“อาคม” สั่ง สศค. ถก มหาดไทย ลดเดือดร้อนภาษีที่ดิน

30 พ.ค. 2565 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 15:51 น.
2.9 k

“อาคม” เผยสั่ง สศค. หารือ มหาดไทย หลังเอกชนร้องให้ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย้ำต้องศึกษารอบคอบเหตุหลังลดภาษีช่วง 2 ปีเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด ทำรายได้ท้องถิ่นหายกว่า 3 หมื่นล้านต่อปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ถึงข้อเรียกร้องของภาคเอกชนหลังยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอเลื่อนและลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ออกไปก่อน เพื่อลดภาระประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงที่ต้องเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้น

 

ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่วมทั้งหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยถึงแนวทางดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ไปแล้ว

“ตอนนี้ภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ และมีการจัดเก็บภาษีไปแล้ว ดังนั้น สศค.ก็ต้องไปศึกษาวิเคราะห์และหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่ามีแนวทางใด ที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนเรื่องภาษีที่ดินได้ เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นรายได้ของท้องถิ่น ที่จะนำรายได้จากภาษีดังกล่าว ไปพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อความรอบรอบ” นายอาคม กล่าว

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า แนวทางการลดจัดเก็บภาษีที่ดินในปีงบประมาณนี้ คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันภาษีที่ดินได้มีการเริ่มจัดเก็บไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.65 ที่ผ่านมา

 

แต่บางพื้นที่สามารถใช้อำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในการขยายเวลาการจัดเก็บออกไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นของการเสียภาษีในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครเลื่อนเก็บภาษีที่ดินจากเดือน เม.ย. ไปเป็นเดือนก.ค.65 เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน 90%เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ท้องถิ่นหายไปปีละเกินกว่า 3 หมื่นล้านบาท  ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปได้ทั้งหมด

 

ซึ่งในช่วงปีแรก 62/63 ก็ชดเชยไปเพียงกว่าหมื่นล้านบาท ส่วนปีภาษี 63/64 ไม่ได้ช่วยอุดหนุนเลยเพราะไม่มีงบประมาณ ดังนั้นหากจะเลื่อนหรือลดอีก ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ต้องหาแหล่งงบประมาณมาชดเชย

 

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ปัจจุบันได้มีมาตรการบรรเทาภาระภาษีอยู่แล้ว เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประกอบเกษตรกรรมได้รับยกเว้นภาษี การผ่อนปรนภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี

 

กรณีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงกว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยชำระในปี 2562 โดยจะบรรเทาภาระให้เสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 62 บวกกับ 75% ของส่วนต่างค่าภาษี ตลอดจนยังเปิดให้ผ่อนชำระภาษีได้อีก 3 เดือน