ก.ล.ต.หนุนระดมทุนด้วย REIT buy-back รับมาตรการยกเว้นภาษี-ค่าธรรมเนียม

12 พ.ค. 2565 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2565 | 23:20 น.

ก.ล.ต. เดินหน้าสนับสนุน การระดมทุนด้วย REIT buy-back เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบธุรกิจทุกขนาด เข้าถึงแหล่เงินทุน รวมSME ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก COVID-19 สอดรับมาตรการรัฐที่ยกเว้นภาษีและลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง หวังลดต้นทุนเอกชน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า ก.ล.ต.จะประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ REIT buy-back เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ในการระดมทุนได้ รวมถึงการระดมทุนรูปแบบอื่นๆ ต่อไป หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการระดมทุนผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน(REIT buy-back)  เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565

ก.ล.ต.หนุนระดมทุนด้วย REIT buy-back รับมาตรการยกเว้นภาษี-ค่าธรรมเนียม

มาตรการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการระดมทุนผ่าน REIT buy-back โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ และลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการขายและซื้อคืนทรัพย์สินระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับ REIT buy-back จะช่วยลดต้นทุนในการระดมทุนและแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจทุกขนาด

รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และกิจการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้หลายรูปแบบมากขึ้นและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพ

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์การระดมทุนด้วย REIT buy-back มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเป็นเครื่องมือของตลาดทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมให้เช่า ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องจากสถานการณ์ COVID-19 ให้สามารถขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ REIT buy-back โดยมีกลไกให้สามารถซื้อทรัพย์สินคืนได้ในอนาคตภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้

“ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถทำข้อตกลงในการเช่าทรัพย์สินกลับไปบริหารได้ด้วย ซึ่งช่วยให้ได้รับเงินจากการขายทรัพย์สินไปช่วยเสริมสภาพคล่องกิจการ และยังสามารถรักษาความเป็นเจ้าของทรัพย์สินไว้ได้ โดยซื้อทรัพย์สินกลับคืนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น”นางสาวรื่นวดีกล่าว

 

ล่าสุด ก.ล.ต. ได้ออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมแบบ filing สำหรับ REIT buy-back ที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหรือยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ภาคเอกชนอีกด้วย