เคทีซี พี่เบิ้มผนึก KTB ปั้นสินเชื่อ 1 หมื่นล้าน

19 เม.ย. 2565 | 18:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2565 | 01:16 น.
701

“เคทีซี พี่เบิ้ม” เผย สัญญาณความต้องการสินเชื่อไม่สะดุด แม้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น มั่นใจเป็นไปตามแผน ปลื้มลูกค้าตอบรับดี หลังเพิ่มวงเงินสินเชื่อก้อนใหญ่สูงถึง 1 ล้านต่อราย มั่นใจกรุงไทยหนุนตลาดภูธร จากสาขา 900 แห่ง ปั้นสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท

ที่ประชุมผู้ถือหุ้น KTC หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)เพิ่งมีมติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ให้กับผู้ถือหุ้น 1 บาทต่อหุ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2,578 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 41. 25% ของกำไรสุทธิ ในปี 2564 อยู่ที่ 5,874 ล้านบาทหรือ 2.28 บาทต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563

 

สำหรับการเติบโตปี 2565 เคทีซีเห็นโอกาสในการเติบโตของสินเชื่อมีหลักประกันที่ได้วางรากฐานมากว่า 2 ปี รวมถึงโฟกัสขยายฐานบัตร CO-Brand ในธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซีให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตที่ 10% หรือ 2.20 แสนล้านบาท พร้อมสินเชื่อส่วนบุคคล (บัตรกดเงินสด KTC PROUD) โต 7% และสินเชื่อพี่เบิ้มและกรุงไทยลีสซิ่ง 11,500 ล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายของธนาคาร กรุงไทย ทั่วประเทศกว่า 900 สาขา

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และผู้บริโภคเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้เคทีซี เชื่อมั่นว่า จะสามารถผลักดันพอร์ตลูกหนี้รวมให้โตเกิน 100,000 ล้านบาท และทำกำไรสูงสุดสร้างสถิติใหม่อีกครั้งในปี 2565

 

หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่จะเดินสู่เป้าหมายปีนี้ คือ จะเน้นขยายธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันอย่าง “เคทีซี พี่เบิ้ม” ผลิตภัณฑ์สินเชื่อน้องใหม่ที่เปิดตัวมาได้ไม่นานสู่การเป็นเรือธงที่จะดึงกราฟการเติบโตของเคทีซีให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเป้าพอร์ตสินเชื่อที่ตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ในปี 2564 สู่เป้าใหญ่ 11,500 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งนับเป็นความท้าทายใหญ่ของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง “เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี” ในฐานะผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม”

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันแม้จะมีปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาเป็นตัวผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้คนตื่นตัว แต่สัญญาณความต้องการสินเชื่อยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม”


ปัจจุบัน “เคทีซี พี่เบิ้ม” ได้เพิ่มวงเงินสินเชื่อสูงถึง 1 ล้านบาทต่อรายจากที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 7 แสนบาทต่อราย ซึ่งลูกค้าจะเน้นตามความต้องการและหลักประกันของแต่ละราย โดยเฉพาะที่มีรถยนต์เป็นหลักประกัน แต่ก็ยังมีลูกค้าบางรายต้องการเงินหมุน 2-3 แสนราย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า 

 

“เคทีซี พี่เบิ้ม เราเป็นน้องใหม่ จึงพยายามเน้นคุณภาพหลักประกันและค่อยๆ ปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องความต้องการ เช่น วงเงินก้อนใหญ่สูงถึง 1 ล้านบาทอนุมัติภายใน 1ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดแข็งมีผลตอบรับดีทั้งลูกค้าที่มีรถเป็นประกัน ทั้งกลุ่มเบนซ์และบีเอ็มดับเบิ้ลยู และปีนี้จะขยายไปต่างจังหวัดมากขึ้น”นางสาวเรือนแก้วกล่าว


ส่วนแนวทางขยายสินเชื่อ “เคทีซีพี่เบิ้ม” จะมุ่งทำตลาดร่วมกับธนาคาร กรุงไทย ที่สนับสนุนให้ปูพรมบริการลูกค้าสาขาทั่วประเทศกว่า 900 สาขา ซึ่งพร้อมจะบุกตลาดเต็มที่ ทั้งจากบริการออนไลน์ผ่าน โมบาย กรุงไทย NEXT และแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”  จึงคาดหลังลูกค้า จากธนาคาร กรุงไทย ในการหาลูกค้าใหม่กว่า 10,000 ล้านบาท

 

“ในแง่ความร่วมมือกับธนาคาร กรุงไทย ในการหาลูกค้า เพราะเราคุ้นเคย ไว้เนื้อเชื่อใจ กลยุทธ์ จะมีทั้งบริการช่องทางออนไลน์ เครือข่าย และสร้างความรู้จักกับลูกค้า ซึ่งหลักๆ จะเป็นสินจำนำทะเบียนรถ 80% ส่วนอีก 20 % จะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase)”นางสาวเรือนแก้วกล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,775 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2565