บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) บนระบบ Blockchain

17 เม.ย. 2565 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2565 | 20:51 น.
683

บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) บนระบบ Blockchain : โอกาส ความท้าทาย และการปรับตัวของภาคธุรกิจไปกับการพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ๆ

บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) บนระบบ Blockchain : โอกาส ความท้าทาย และการปรับตัวของภาคธุรกิจไปกับการพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ๆ

 

คุณทรงชัย เงินหมื่น

ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG) บนระบบ Blockchain

หากจะกล่าวถึง Blockchain ในโลกการเงิน คนส่วนใหญ่คงนึกถึง Cryptocurrency, DeFi หรือ NFT ซึ่งเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องช่วง 2 - 3 ปีนี้  แต่ที่จริงแล้ว Blockchain สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย

 

ตั้งแต่การโอนเงินไปจนถึงธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance)  คุณสมบัติที่โดดเด่นของ Blockchain ในเรื่องกลไกการบันทึกข้อมูลที่สามารถป้องกันการปลอมแปลง โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องมีตัวกลางควบคุม ช่วยให้สามารถลดขั้นตอนและต้นทุนในการทำธุรกรรมได้อย่างมาก 

 

 

 

Blockchain จึงถูกจับตาว่า จะช่วยสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ และประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้มหาศาล  โดยในปี 2564 มีการลงทุนในโครงการ Blockchain ทั่วโลกกว่า 25.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามรายงานของ CB Insights

 

สำหรับภาคการเงินไทย แบงก์ชาติได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ Blockchain และส่งเสริมการนำ Blockchain มาพัฒนาบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกที่เรียกว่า Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมทางการเงินของผู้ประกอบการมาทดสอบในสนามทดสอบ

 

โดยมีแบงค์ชาติร่วมติดตาม ทดสอบและประเมินผลเพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นสามารถใช้งานได้จริงและปลอดภัยสำหรับลูกค้า  หนึ่งในโครงการสำคัญที่อยากนำมาเล่าในวันนี้ ได้แก่ การประยุกต์ใช้ Blockchain เพื่อยกระดับบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG on Blockchain) ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (BCI) มาผลักดันประเด็นดังกล่าว

 

ต้องเล่าก่อนว่า ในแต่ละปี มีการออกหนังสือค้ำประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อรองรับธุรกรรมการค้าและการยื่นประมูลต่าง ๆ นับแสนล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม ในอดีตกระบวนการออกหนังสือค้ำประกันมีเอกสารและขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลา 3 – 7 วันกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ  ทั้งยังมีความเสี่ยงจากการทุจริตปลอมแปลงข้อมูลในหนังสือค้ำประกันที่เป็นกระดาษ 

 

แต่ในปัจจุบัน BCI ได้นำ Blockchain มาช่วยจัดการกับความยุ่งยาก (pain points) ข้างต้นได้อย่างตรงจุด  โดยบริการหนังสือค้ำประกันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ BCI สามารถลดเวลาการออกหนังสือค้ำประกันให้เหลือเพียง 1 – 4 ชั่วโมง

 

จากการลดขั้นตอนและปริมาณเอกสารที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดต้นทุนในการออกและจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งลดโอกาสการเกิดทุจริตจากการปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากผู้รับหนังสือค้ำประกันสามารถตรวจสอบข้อมูลและสถานะหนังสือค้ำประกันในระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

โครงการ e-LG on Blockchain มีพัฒนาการต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบัน BCI มีธนาคารสมาชิก 18 ราย มีองค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจใช้บริการนี้ 169 ราย  และในอนาคตก็สามารถให้บริการต่อยอดสำหรับธุรกรรมอื่น

 

เช่น การออกหนังสือรับรองสินเชื่อและหนังสือรับรองทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์  รวมทั้งสามารถพัฒนาให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและประเทศไทยต่อไปได้ 

 

เรียกได้ว่าโครงการ e-LG on Blockchain ของ BCI เป็นความร่วมมือด้าน Blockchain โครงการแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการนำ Blockchain มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยฝีมือคนไทยและในด้านการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเลยครับ

 

และจากการที่แบงก์ชาติมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันและการทดสอบโครงการต่าง ๆ ที่นำ Blockchain มาใช้พัฒนาบริการมาพอควร เลยขอฝาก 4 ประเด็นหลัก ๆ ที่ควรพิจารณา เผื่อจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่สนใจนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ต่อไปครับ 

1) เข้าใจ Blockchain อย่างรอบด้าน เพราะ Blockchain อาจไม่ได้เหมาะกับธุรกิจทุกประเภท อย่าลืมวิเคราะห์ต้นทุน ความคุ้มค่า รวมทั้งเลือกแพลตฟอร์มที่มีอนาคตและเหมาะสมกับธุรกิจของคุณจริง ๆ

2)ให้ความสำคัญกับเรื่อง Governance เพราะ Blockchain เป็นระบบที่ไม่มีตัวกลาง การกำหนดทิศทางและการตัดสินใจในแพลตฟอร์มนั้นจึงต้องโปร่งใส มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และมาตรฐานที่ชัดเจน

3)ดูแลความเสี่ยงด้าน IT ให้รัดกุม เพราะความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งาน ควรกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูล key management และทดสอบความปลอดภัยระบบ IT ที่เกี่ยวข้อง

4)ศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ให้รอบคอบ เพราะการนำ Blockchain มาใช้อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการหรือสร้างธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงควรให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลด้วย 

 

สุดท้ายนี้ จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือกันของภาคการเงินและภาครัฐ ผนวกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพอย่าง Blockchain จะช่วยให้โอกาสของภาคธุรกิจไทยจะเปิดกว้างและเดินหน้าต่อไปได้ไกลในอนาคตอย่างแน่นอนครับ

 

-----------------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.