สงกรานต์ 2565 ใช้จ่ายฝืด 2.2 หมื่นล้าน คนไทยเที่ยวตามกำลังซื้อ

09 เม.ย. 2565 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2565 | 13:21 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน เทศกาลสงกรานต์ปี 2565 การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวน่าจะมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มองคนไทยปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด และกำลังซื้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9 วัน ระหว่างวันที่ 9-17 เม.ย. 2565 น่าจะมีจำนวน 4.6 ล้านคน ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 น่าจะมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

โดยบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้แม้จะดีขึ้น เนื่องจากประชากรในประเทศส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 รวมถึงเข็มกระตุ้น ทำให้คนส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่นที่จะเดินทางท่องเที่ยว โดยเห็นได้ว่า หลังจากที่ทางการไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

 

ประกอบกับในปีนี้ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค) ได้ผ่อนคลายให้สามารถจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ขบวนแห่ การสาดน้ำ และการจัดกิจกรรมสันทนาการได้ (ภายใต้เงื่อนไขที่ยังต้องเฝ้าระวัง การระบาดของโควิด เช่น การห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง หรือปาร์ตี้โฟมในพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม)

 

ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นในหลายพื้นที่มีแผนที่จะจัดงานเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงหน่วยงานท่องเที่ยวและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว กลับมาทำโปรโมชั่นกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 สำหรับการเข้าไปชมสถานที่ท่องเที่ยว หรือแพ็คเกจห้องพักราคาพิเศษ เป็นต้น

 

รวมถึงปัจจัยหนุนจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ยังคงมีจำนวนสิทธิเหลืออยู่ประมาณ 2.7 แสนสิทธิ (ณ วันที่ 7 เม.ย. 65) เป็นที่สังเกตว่า จำนวนสิทธิการจองห้องพักปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงใกล้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก ณ ขณะนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันระดับสูง อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากภาวะค่าครองชีพที่สูงจากราคาสินค้าและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ก็คงจะสร้างความกังวลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนบางกลุ่มในช่วงเวลานี้

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยคนไทยยังเลือกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้และ/หรือที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหลัก ซึ่งได้แก่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ พัทยาและสัตหีบ (จ.ชลบุรี) เกาะกูดและเกาะช้าง (จ.ตราด) หัวหิน (จ.ประจวบคีรีขันธ์) จ.ภูเก็ต เกาะสมุย (จ.สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ภูเขา/น้ำตก) อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.กาญจนบุรี และ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น  

 

สำหรับในด้านการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 โดยภาพรวมการใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลหลักจากการทำตลาดของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและการปรับพฤติกรรมการเดินทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดและกำลังซื้อ

 

เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยว ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังมีจำนวนไม่มาก) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังมีความจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ เช่น โปรโมชั่น 1 ฟรี 1 หรือแพ็คเกจที่พักราคาพิเศษ เป็นต้น ขณะเดียวกัน โครงการภาครัฐทั้งเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ประกอบกับนักท่องเที่ยวบางส่วนเดินทางแบบไปเช้า-เย็นกลับ จึงมีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายด้านที่พักและด้านอาหารของนักท่องเที่ยวไม่เร่งตัวขึ้นมากนักแม้ราคาอาหารจะแพงขึ้น  

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายการเดินทางก็ไม่เพิ่มขึ้นมากแม้ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ และท่องเที่ยวใกล้ที่พักเป็นหลัก นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/ของฝาก/ของที่ระลึกและทำกิจกรรมการท่องเที่ยวชะลอลง ตามการปรับลดกิจกรรมสันทนาการเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด 

 

พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันจะนิยมเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ จุดชมวิวเพื่อหามุมในการถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอ เพื่อแชร์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและที่พักที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและมีการตกแต่งสถานที่ที่มีมุมให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพจะมีความได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่น 

 

" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 นี้ น่าจะมีมูลค่า 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน " บทวิเคราะห์ ระบุ

 

สำหรับทิศทางตลาดท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับปัจจัยด้านบวกเพิ่มเติมจากการที่ทางการได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการตรวจวัดเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังบั่นทอนความต้องการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว  ภาคการท่องเที่ยวก็ยังมีความท้าทายใหม่เพิ่มขึ้นจากประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
รวมถึงขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งคงจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว และความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง

 

ขณะเดียวกันปัจจัยด้านต้นทุนสร้างแรงกดดันในการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เนื่องจากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ยังจำกัด แต่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูง ทำให้การทำแพ็คเกจด้านราคายังคงต้องมีความระมัดระวัง 

 

จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยการทำตลาดในช่วงเวลานี้ยังคงต้องมีความยืดหยุ่นและปรับกลยุทธ์ไปตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน (Leisure Travel) การเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานในสถานที่ท่องเที่ยว (Workcations) ขณะที่ปัจจุบันหลายบริษัทยังใช้รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid Work from Home ซึ่งผู้ประกอบการคงจะต้องมีการจัดแพ็คเกจพิเศษระยะสั้น และระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม 

 

นอกจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการเปรียบเทียบราคาที่พักและบริการ ซึ่งหากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงก็คงจะต้องหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยปรับกลยุทธ์ลงมาเจาะกลุ่มเฉพาะ หรือ Niche Market เพิ่มบริการพร้อมปรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และให้นักท่องเที่ยสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวอย่างการถ่ายรูป เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบท่องเที่ยวในชุมชน เช่น ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก บริษัทนำเที่ยวและรถเช่า เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวเดินทางอิสระ 

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย