FCBDM ห่วงราคาน้ำมันกระทบ เงินเฟ้อ-นโยบายการเงิน

19 มี.ค. 2565 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2565 | 19:59 น.

คลัง เผย ที่ประชุม FCBDM มองราคาน้ำมันยังผันผวน พร้อมจับตาผลกระทบใกล้ชิด ห่วงกระทบเงินเฟ้อ-นโยบายการเงิน ขณะที่การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : FCBDM) ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 65 ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยรับว่าที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขณะนี้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและนโยบายทางการเงิน ขณะเดียวกันสถานการณ์ราคาน้ำมันก็ยังมีความผันผวนพอสมควร ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำให้มีการจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูผลกระทบว่าจะยืดเยื้อนานแค่ไหน

“ที่ประชุมได้มีการพูดถึงประเด็นราคาน้ำมัน และแสดงความเป็นห่วง เพราะยังมีความผันผวนพอสมควร ซึ่งก่อนการประชุมราคาน้ำมันก็ปรับพุ่งสูง และช่วงที่มีการประชุมราคาก็ค่อยๆ ขยับลงมา คงต้องมีการจับตาผลกระทบว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน เพราะจะมีผลต่อเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน” นายกฤษฎา กล่าว

 

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ในการประชุม FCBDM ยังมีการหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ภูมิภาค และแนวโน้ม ซึ่งผู้แทนหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit: APEC PSU) ได้นำเสนอผลวิเคราะห์ ทิศทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ปัจจัยด้านข้อจำกัดในการเดินทางและปัญหาผลกระทบด้านอุปทาน ทั้งนี้ APEC PSU ประมาณการเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 และปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 และ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ

 

ในขณะที่เศรษฐกิจเอเปค จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 และ 3.8 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อ การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ระดับหนี้ที่สูง และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อปัญหาเงินเฟ้อ และความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานได้

 

ผู้แทนจาก IMF ได้คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี โดยภูมิภาคเอเปค ในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเขตเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้ม ที่ดีขึ้น สะท้อนจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมใหม่เฉลี่ย 7 วันที่มีจำนวนลดลง ปริมาณผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวของประชากรในชุมชน (COVID-19Community Mobility Reports) ที่มีแนวโน้มดีขึ้น

 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมาก ขึ้นสะท้อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตวัสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายๆ เขตเศรษฐกิจได้ปรับตัว สูงขึ้น

 

สำหรับเศรษฐกิจไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 ต่อปี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความไม่แน่นอน ของด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น นโยบายการคลังที่สนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวจากต่างชาติจะสามารถกลับมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต