ธนาคารกลางแห่ตุนทอง จีนนำโด่งเฉียด 2 พันตัน

17 มี.ค. 2565 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 21:54 น.
2.9 k

ธนาคารกลางเอเชียแห่ตุนทองเพิ่ม พบจีนนำโด่ง 1,948 ตัน รองลงมาเป็นญี่ปุ่นและอินเดีย ไทยรั้งอันดับ 5 ตุนทอง 244 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 90 ตัน แถมราคาทองคำพุ่งต่อเนื่องหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งมูลค่าทองในทุนสำรองไทยเพิ่มเป็น 14, 976.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สภาทองคำโลก รายงานว่า ความต้องการทองคำทั่วโลก (ไม่รวมตลาด OTC) ฟื้นตัวขึ้น นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563  เพราะทองคำถูกมองในฐานะ สินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ความต้องการทองคำในสิ้นปี 2564 ขึ้นมาอยู่ที่ 4,021 ตัน โดยเฉพาะไตรมาส 4 ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นเเตะ 1,147 ตัน ถือเป็นระดับรายไตรมาสที่สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบรายปี

 

ขณะที่ความต้องการทองคำของผู้บริโภคไทยปี 2564 แตะระดับ 12 ตัน ในไตรมาสที่ 4 หรือเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงความต้องการเครื่องประดับทองรายปีของประเทศ ไทยอยู่ที่ 8 ตัน เพิ่มขึ้น 38% จาก 6 ตันในปี 2563 และความต้องการใช้เครื่องประดับเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันในการเติบโตแบบปีต่อปี จึงมองว่า แนวโน้มความต้องการทองคำในปี 2565 จะยังมีอยู่

ทั้งนี้ความต้องการทองคำ จะมาจาก 2 กลุ่มเป็นหลักคือ กลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มสถาบัน โดยในระดับกลุ่มผู้บริโภคเชื่อว่า ความต้องการของกลุ่มนี้ ยังแข็งแกร่งและยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มสถาบันความต้องการอาจจะลดลงเล็กน้อย จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาทองคำ

 

ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้และความเป็นไปได้ที่ตลาดจะอ่อนตัวลงมีแนวโน้มที่จะรักษาความต้องการทองคำไว้เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยง นอกจากนั้นทองคำอาจยังคงได้รับการหนุนจากผู้บริโภคและอุปสงค์ของธนาคารกลางอีกด้วย เพราะ ทองคำสำรอง หรือ gold reserve เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่ธนาคารกลางของประเทศหรือองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศซื้อเก็บ

ดังนั้น การสะสมทองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงเป็นการลงทุนและหลักประกันทางการเงินของประเทศและองค์กรนั้นๆ แม้แรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางในปี 2563 จะชะลอตัวลงจากปี 2561-2562 แต่หลายหน่วยงาน เชื่อว่า ธนาคารกลางจะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่อง และบทบาทของทองคำในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะยังคงดำเนินต่อไป

ธนาคารกลางแห่ตุนทอง  จีนนำโด่งเฉียด 2 พันตัน

สำหรับการถือครองทองคำของธนาคารกลางประเทศในเอเชีย สูงสุด 10 อันดับในปี 2564 พบว่า จีน ถือครองมากที่สุดที่ 1,948 ตัน มูลค่า 113,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็น ญี่ปุุ่น 846 ตัน มูลค่า 49,117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย อินเดีย  754 ตัน มูลค่า 43,783 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไต้หวัน 424 ตัน มูลค่า 24,596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทย 244 ตัน มูลค่า 14,176 ล้านดอลาร์สหรัฐ

 

นอกจากนั้นยังมี ฟิลิปปินส์  159 ตัน มูลค่า 9,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์ 154 ตัน มูลค่า 8,926 ล้านดอลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ 104 ตัน มูลค่า 6,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย  79 ตัน มูลค่า 4,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมาเลเซีย39 ตัน มูลค่า 2,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

หากเทียบกับปี 2563 จะพบว่า ธนาคารกลางที่มีการสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในปี 2564 มี 4 ประเทศคือ ญี่ปุ่นจาก 765 ตันเป็น 846 ตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 46,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 49,117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็น อินเดียจาก 677 ตันเป็น 756 ตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 41,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 43,783 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ตามมาด้วยไทยจาก 154 ตันเป็น 244 ตัน มูลค่าเพิ่มจาก 9,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 14,176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิงคโปร์ เพิ่มจาก 127 ตันเป็น 154 ตัน มูลค่าเพิ่มจาก 7,732 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 8,926 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ประเทศที่มีการสะสมทองคำลดลงมี 2 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ จาก 189 ตันเหลือ 159 ตัน มูลค่าลดลงจาก 11,457 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 9,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกาหลีใต้จาก 105 ตันเหลือ 104 ตัน มูลค่าลดลงจาก 6,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐเหลือ 6,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ขณะที่ประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองทองคำคือ จีนยังคงที่ 1,948 ตัน ขณะที่มูลค่าลดลงจาก 118,239 ล้านดอลลาร์สหรัฐเหลือ 113,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไตรหวัน 424 ตัน มูลค่าลดลงจาก 25,709 ล้านดอลลาร์สหรัฐเหลือ 24,596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซียคงที่ 79 ตัน มูลค่าลดลงจาก 4,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 4,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมาเลเซีย คงที่ 39 ตัน มูลค่าลดลงจาก 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 2,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

สำหรับมูลค่าการถือครองทองคำในทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทย จากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)พบว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน กันยายน 2564 อยู่ที่ 13,788.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 13,996.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคม 2564 และเพิ่มเป็น 13,925.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2564 และ 14,247.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2564

 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าทองคำในทุนสำรองของไทยเดือนมกราคม 2565 ย่อตัวลงเล็กน้อยที่ 14,103.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามราคาทองคำที่ลดลง หลังกระแสข่าวการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด  ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นกดดันราคาทองคำ

 

แต่หลังการเข้าโจมตียูเครนของรัสเซีย ทำให้ราคาทองคำกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งและส่งผลให้มูลค่าการถือครองทองคำของธนาคารกลางไทยในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเป็น 14,976.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ล่าสุดราคาทองคำ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ราคาทองคำระหว่างวันแกว่งตัวในกรอบ 1,911.10-1,924.02 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากได้ปิดปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากสัญญาน น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดร่วงลงกว่า 6% ท่ามกลางการเจรจาหยุดยิงระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ดัชนี PPI ของสหรัฐออกมาแย่เกินคาดด้วย  

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,766 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2565