คนร.จี้ “เอ็นที-ขสมก.-รฟท.” เร่งทำกำไร-บริการประชาชนให้ดีขึ้น

16 มี.ค. 2565 | 16:11 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 23:18 น.

คนร. จี้ “เอ็นที” เร่งทำกำไรจาก 5G-ดาวเทียมไทยคม ย้ำ “ขสมก.-รฟท.” จัดหารถบริการประชาชนให้ดีขึ้น พร้อมกำชับทุกรัฐวิสาหกิจปรับแผนรับ Next Normal สะสางปัญหาในอดีตให้สำเร็จ ขณะที่แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ปี 66 – 70 ให้ทำตามแผนพัฒน์ฯ ฉ.ที่13 และนโยบาย BCG

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

คนร.จี้ “เอ็นที-ขสมก.-รฟท.” เร่งทำกำไร-บริการประชาชนให้ดีขึ้น

 

โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง โดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท) ได้ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะสั้น ประจำปี 2564 ทำให้มีกำไรจากที่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ คนร. ได้กำชับให้ บริษัท เอ็นที จำกัด (มหาชน) เร่งพัฒนาและบริหารจัดการระบบ 5G และดาวเทียมไทยคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งการจัดหารถเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น

 

และกำชับให้ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ซึ่งมีผลการประเมินที่ดีขึ้น ให้ปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการรองรับ Next Normal การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งให้มีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตให้สำเร็จ และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 และภาวะวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 - 2570 (แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ) โดยกำหนดกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อนำ 13 หมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผนพัฒน์ฯ) ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model)

 

และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 และการสร้างความมั่นคงในด้านการค้า การลงทุน การผลิต และการเกษตรของประเทศรองรับจากผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์ในต่างประเทศ นอกจากนี้ ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น