บอร์ดที่ราชพัสดุฯ เห็นชอบ “วงษ์สยามฯ” ชนะประมูลโครงการท่อส่งน้ำฯ

14 มี.ค. 2565 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 21:25 น.

บอร์ดที่ราชพัสดุ เคาะรับรองผล “วงษ์สยามก่อสร้าง” ชนะประมูลโครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก คาดเริ่มเซ็นสัญญาได้ภายใน 3-4 เดือนจากนี้ ย้ำต้องยึดผลประโยชน์รัฐและประเทศเป็นหลัก

วันนี้ (14 มีนาคม 65) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อพิจารณาทบทวนมติ เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการผลการคัดเลือกเอกชน โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ว่า วันนี้มีคณะกรรมการที่ราชพัสดุเข้าร่วมประชุม 9 คน จากคณะกรรมทั้งหมด 12 คน โดยคณะกรรมการ 6 คนมีมติเห็นชอบรับรองผลการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล

 

ขณะที่คณะกรรมการอีก 2 คนให้รอผลคำตัดสินของศาลปกครอง และอีก 1 คนงดออกเสียง ส่วนคณะกรรมการอีก 3 คนที่ไม่เข้าร่วมประชุม มี 1 คนที่ถือหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทที่เข้าร่วมประมูล จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงขอไม่เข้าร่วมประชุม ขณะที่คณะกรรมการอีก 1 คนอยู่ต่างประเทศ และอีก 1 คน ติดภาระกิจไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้  ทั้งนี้คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาระหว่างกรมธนารักษ์และผู้ชนะ คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ภายใน 3-4 เดือนหลังจากนี้

“กรมธนารักษ์ได้ยืนยันตามที่คณะกรรมการได้ถามย้ำถึงการดำเนินการว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ราชพัสดุ 100% หรือไม่ กรรมการจึงได้ลงมติ ส่วนกรณีที่ผู้ไม่ชนะการประมูลไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ แต่ทางคณะกรรมการก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและรายได้ของรัฐเป็นหลัก และน้ำก็เป็นเหมือนลมหายใจของภาคตะวันตก จะหยุดส่งน้ำไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะจะกระทบความเสียหายมหาศาล” นายสันติ กล่าว

 

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

 

นายสันติ กล่าวว่า ก่อนการลงมติ ฝ่ายเลขาฯ หรือ กรมธนารักษ์ ได้อธิบายในประเด็นต่างๆ ทั้งผลการดำเนินงานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งรัฐได้รับผลประโยชน์จากปี 2537 ถึงปัจจุบันปี 2565 อยู่ที่ 552 ล้านบาท และจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2566

 

ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้กรมธนารักษ์สามารถเปิดประมูลได้ก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 2 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการ ซึ่งในการเปิดประมูลครั้งที่ 1 พบว่า TOR ไม่สมบูรณ์ จนไม่สามารถตัดสินอะไรได้ จึงต้องยกเลิกผลประมูล

 

และต่อมาได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ชนะในครั้งแรก ก็ได้เข้าประมูลด้วย แต่ผลชนะไปอยู่ที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง  ซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐสูงสุด เป็นเงิน 25,693 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี หรือ คิดเป็น 27% ของค่าน้ำที่บริษัทผู้ถือสัมปทานขายให้เอกชน ที่ 10.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งได้สูงกว่าผู้ชนะอันดับ 2 คือ อีสท์วอเตอร์ ที่ให้ผลตอบแทนภาครัฐ ที่ 24,212ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

 

นายสันติ กล่าวอีกว่า อัตราค่าน้ำที่กำหนด ที่ไม่เกิน 10.98 บาทต่อหน่วย และปริมาณน้ำต่อปีที่ 140 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นตัวเลขที่ใช้กับทุกบริษัท ซึ่งทุกบริษัทจะเห็นตัวเลขเดียวกัน และเป็นการแข่งขันที่เปิดเผย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องพิจารณาผลประโยชน์ของรัฐที่จะต้องได้รับ ซึ่ง วงษ์สยามก่อสร้าง ได้ให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุดที่ 27% ของราคาค่าน้ำที่ขายในราคา 10.98 บาทต่อหน่วย  

 

“ช่วงเช้าก่อนการประชุม ทางอีสท์วอเตอร์ ได้ยื่นหนังสือ ที่ตั้งข้อสังเกตุ และขอความเป็นธรรมจากการยกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งหนังสือดังกล่าว ได้มีการนำไปเปิดขึ้นจอภาพให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาไปพร้อมกัน โดนยืนยันว่าทุกอย่างมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ” นายสันติ กล่าว