“สันติ” ปัด แตกหัก “ภูมิใจไทย” ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว

08 ก.พ. 2565 | 16:54 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2565 | 00:09 น.

“สันติ” ปัดแตกหัก แจงเหตุรัฐมนตรีภูมิใจไทย ไม่ร่วมประชุม ครม. เพราะอยู่ระหว่างกักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด เผย นายกสั่งมหาดไทยกลับไปทบทวน ประเด็น รถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่ตามความเห็นคมนาคม ก่อนนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้งสัปดาห์หน้า

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  กรณีรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ในวันนี้ (8 ก.พ.65) นั้น เนื่องจากอยู่ระหว่างการกักตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงจากเหตุการณ์สมาชิกในพรรคภูมิใจไทยติดโควิด-19 หลายคนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เกี่ยวกับการประท้วงหรือคัดค้านกระทรวงมหาดไทยที่นำเสนอผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม.พิจารณาแต่อย่างใด 

 

ขณะที่ประเด็นการขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ที่ประชุม ครม. วันนี้ (8 ก.พ.65) มีมติ ให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปทบทวนอีกครั้ง โดยเฉพาะ การคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม ความชัดเจนประเด็นข้อกฎหมาย และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ เสนอความเห็นประกอบการพิจารณามายังเลขาธิการ ครม. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ในที่ประชุมยังได้เน้นย้ำเรื่องของวินัยการเงินการคลังด้วย และให้นำกลับมาเสนอในที่ประชุม ครม. อีกครั้งสัปดาห์หน้า

“หนังสือที่กระทรวงคมนาคมส่งมา ก็มีประเด็นความเป็นห่วงในเรื่องของค่าโดยสาร ว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดหรือไม่ รวมทั้งให้ไปวิเคราะห์ความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการในการต่อขบวนรถ และข้อกฎหมายจึงให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง เชื่อว่ารัฐบาลไม่มีแตกหักกัน เพราะทุกคนมองเห็นประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน”  นายสันติ กล่าว

 

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายสันติ กล่าวอีกว่า การต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวให้กับบีทีเอสน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เนื่องจาก จะทำให้สามารถใช้ตั๋วใบเดียวตลอดทั้งสาย ไม่ต้องออกจากระบบ แล้วมาซื้อตั้วอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะเมื่อมาซื้อตั๋วใหม่จะต้องเสียค่าเข้าระบบในแต่ละครั้ง 

 

นอกจากนี้ การต่ออายุสัมปทานให้กับบีทีเอสยังมีเงื่อนไขให้บีทีเอสต้องรับภาระหนี้ในส่วนต่อขยายอีกด้วย ซึ่งประเด็นการโอนหนี้จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปให้บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ​หรือบีทีเอส นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)​ได้ร่วมพิจารณาด้วย เชื่อว่าจะไม่มีการเสียเปรียบแน่นอน