ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สรุป 6 เรื่องควรรู้ เตรียมและใช้เอกสารอะไร

10 มี.ค. 2565 | 09:49 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 05:59 น.
1.3 k

ยื่นภาษี 2565 เงินได้บุคคลธรรมดา ใกล้วันหมดเขตยื่นทางออนไลน์ 8 เมษายนนี้ สรุป 6 เรื่องที่ควรรู้ ก่อนยื่นเสียภาษีประจำปี เพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ

ใกล้สิ้นสุดการยื่นภาษีประจำปี 2564 เงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะหมดเขตยื่นแบบฯทางออนไลน์ ในวันที่  8 เมษายน 2565 "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" ได้สรุป 6 ข้อควรรู้  ก่อนการยื่นเสียภาษีประจำปี ต้องเตรียมอะไรบ้าง  

 

1.ใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี

 

สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิด คือ หากคำนวณแล้วไม่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องยื่นแบบภาษี แต่ความจริงแล้วเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ก็ตามก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ โดยเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ได้แก่

 

ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91

 

สำหรับผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว

  • คนโสด มีรายได้ 120,000 บาท/ปี
  • คนสมรส มีรายได้ 220,000 บาท/ปี 

 

ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90

 

สำหรับผู้ที่มีรายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน

  • คนโสด มีรายได้ 60,000 บาท/ปี
  • คนสมรส มีรายได้ 120,000 บาท/ปี

 

2.เตรียมเอกสารอะไรบ้าง

 

  • 1.เอกสารแสดงรายได้

 

สำหรับพนักงานบริษัท จะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบทวิ 50) ซึ่งมีข้อมูลรายได้ตลอดทั้งปี ภาษีสะสมที่ได้ถูกหักไว้ ข้อมูลประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ถูกหักไว้ระหว่างปีด้วย แต่หากประกอบอาชีพอิสระก็จะได้รับเอกสารจากผู้ว่าจ้างเมื่อมีการจ่ายเงิน และหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว และหากมีรายได้หลายทางก็ให้นำรายได้ทุกทางมารวมกัน โดยจัดแยกตามประเภทรายได้ ซึ่งมีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่

 

  • เงินได้ประเภทที่ 1 เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส
  • เงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เช่น ค่านายหน้า ค่าจ้างทั่วไป
  • เงินได้ประเภทที่ 3 ค่าลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา
  • เงินได้ประเภทที่ 4 ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร
  • เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการเช่าทรัพย์สิน หรือเงินประโยชน์อย่างอื่น
  • เงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
  • เงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ
  • เงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้อื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 - 7

 

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นยื่นแบบภาษี อาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแยกประเภทรายได้ เพราะว่ารายได้แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน วิธีการคำนวณภาษี คือต้องนำรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จึงจะได้ตัวเลขเงินได้สุทธิ ที่ต้องนำไปเทียบกับอัตราขั้นบันได โดยหากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษี

 

นอกจากนี้ การรู้ประเภทรายได้จะทำให้เลือกใช้แบบฟอร์มได้ถูกต้อง ถ้ามีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจะใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หากมีรายได้อื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจากเงินเดือนจะใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 และเฉพาะเงินได้ประเภทที่ 5 - 8 หากรวมกันแล้วเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นแบบครึ่งปีด้วย โดยใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.94

  • 2.เอกสารที่ใช้ลดหย่อนภาษี

 

เอกสารลดหย่อนมีหลายรายการ สามารถแยกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

 

1.กลุ่มภาระติดตัวและครอบครัว เช่น เตรียมสูติบัตรหรือใบรับรองบุตรสำหรับค่าลดหย่อนบุตร หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (ล.ย.03) สำหรับค่าลดหย่อนพ่อแม่ ทะเบียนสมรสกรณีลดหย่อนคู่สมรส เป็นต้น

 

2.กลุ่มประกัน เตรียมใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกัน ซึ่งปัจจุบันอาจไม่ต้องเตรียมเอกสารใด เพียงแต่ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนต่อบริษัทประกัน

 

3.กลุ่มการออมและลงทุน เตรียมหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน เช่น SSF หรือ RMF เป็นต้น

 

4.กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ หากกู้ซื้อบ้านหรือคอนโด หนังสือรับรองการเสียดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย จากธนาคาร

 

5.กลุ่มเงินบริจาค โดยทั่วไปจะใช้ใบอนุโมทนาบุญที่ระบุชื่อผู้ยื่นภาษีเป็นผู้บริจาค แต่หากบริจาคผ่าน e-Donation ก็ไม่ต้องเตรียมเอกสาร

 

แม้การยื่นแบบภาษีอาจจะยังไม่ต้องยื่นเอกสารในทันที แต่การเตรียมเอกสารทุกอย่างให้เรียบร้อย จะช่วยให้มีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เพราะหากขาดเอกสารที่ต้องใช้ลดหย่อนเรื่องใดไป เช่น ลืมกรอกค่าลดหย่อนบุตร ก็จะทำให้เสียภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น และไม่ต้องเสียเวลาค้นหาเอกสารเมื่อสรรพากรขอตรวจสอบเพิ่มเติม ที่สำคัญหากมีเงินภาษีที่ได้คืน ก็จะได้ภาษีคืนเร็วอีกด้วย

 

3.เลือกยื่นแบบของคู่สามีภรรยา

 

การยื่นแบบภาษีสำหรับคนโสด เป็นการสรุปรายได้ของคนคนเดียว แต่สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว (จดทะเบียนสมรส) มี 3 ทางเลือกในการยื่นแบบ แต่ก่อนจะเลือกวิธีใดต้องคำนวณว่าวิธีไหนได้ประโยชน์ทางภาษีสูงสุด

 

  • แยกยื่น : ต่างคนต่างยื่นรายได้ของตัวเอง เหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้และค่าลดหย่อนใกล้เคียงกันหรืออยู่ในฐานภาษีเดียวกัน
  • แยกยื่นเฉพาะส่วนของเงินเดือน : ภรรยายื่นเฉพาะรายได้ที่เป็นเงินเดือน หากมีรายได้ประเภทอื่น เช่น ขายของออนไลน์ ก็นำรายได้ส่วนนี้ให้สามีเป็นผู้ยื่น ในทางกลับกัน สามียื่นเฉพาะเงินเดือน รายได้อื่นก็ยื่นในนามภรรยา เหมาะกับกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีเงินเดือนสูง และมีรายได้ทางอื่นด้วย รวมถึงมีฐานภาษีที่สูงกว่าอีกฝ่าย
  • รวมยื่น : เป็นการนำรายได้ทั้งหมดของสามีและภรรยามายื่นแบบรวมกัน โดยภรรยาเป็นผู้ยื่นหรือสามีเป็นผู้ยื่นก็ได้ เหมาะกับกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีรายได้ไม่มากแต่มีค่าลดหย่อนมาก (อาจจะมากกว่ารายได้) จะทำให้อีกฝ่ายใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนได้

 

4.ยื่นแบบภาษี ช่องทางไหนได้บ้าง

 

ยื่นแบบฯ ออนไลน์

      (สามารถ Upload เอกสารได้)

  • ผ่านแอพพลิเคชั่น RD Smart Tax

 

ยื่นแบบๆ (กระดาษ)

  • ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทั่วประเทศ

 

5.ลงทะเบียนพร้อมเพย์

 

หากมีเงินภาษีคืน แนะนำให้สมัครระบบพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประชาชน เมื่อกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีเรียบร้อยแล้วจะได้โอนเงินภาษีคืนได้อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับใครที่มีเงินภาษีคืนสามารถติตตามสถานะการคืนเงินภาษี ได้ที่ระบบ e-Refund เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th

 

6.ไม่ยื่นภาษีได้ไหม ?

 

การไม่ยื่นแบบภาษีโดยเจตนา เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

 

ทั้งนี้กรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 10 ปี ดังนั้นหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบภาษีให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาให้ต้องตามแก้ในภายหลัง

 

อ้างอิงข้อมูล   

 

  • "เรื่องควรรู้ ก่อนยื่นภาษีประจำปี"  โดย : กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย