“อาคม” ย้ำ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านยังพอ

24 ก.พ. 2565 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 19:05 น.

“อาคม” เผย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ยังเหลือกว่า 1 แสนล้าน ยังพอและยังไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่ม ขณะที่การใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ เป็นการสร้างความสมดุล พร้อมย้ำสภาพคล่องในประเทศยังมี และรัฐบาลยังคงใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความคืบหน้าการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังมีวงเงินที่ยังรอการอนุมัติเหลืออีกกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งยังเพียงพอและยังไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากได้มีการปรับโครงการที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว ให้เล็กลง ทำให้บางโครงการมีเงินเหลือและนำส่งคืนมา

 

ส่วนการใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศนั้น ในการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก็มีการใช้แหล่งเงินกู้จาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เพียง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี เนื่องจากเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ก็มีการใช้แหล่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมย้ำว่า สภาพคล่องในประเทศยังมีเพียงพอ ดังนั้นไทยยังคงใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ต้องพิจารณาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อสร้างความสมดุลด้วย

“แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ทั้ง ADB และ จากญี่ปุ่น ก็เป็นการช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่การให้เปล่า และก็มีการเสนอช่วยในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย อย่างไรก็ตามสภาพคล่องในประเทศไทยยังพอ ดังนั้นรัฐบาลจะใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะพิจารณาแหล่งเงินจากต่างประเทศด้วย เพื่อสร้างความสมดุล เนื่องจากภาคเอกชนของไทยก็ยังจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินกู้เช่นกัน” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม ยังกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณขาดดุลประจำปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดไว้ที่ 7 แสนล้านบาทนั้น ได้มีการกำหนดงบประมาณ สำหรับชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ซึ่งหากสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้า เงินส่วนดังกล่าวก็จะถูกส่งเข้าคลัง ขณะที่ฐานะการคลังจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยหาก DGP ปี 65 ขยายตัวมากกว่า 4% ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 ปรับลดลงมากต่ำกว่า 62% ตามที่ได้ประเมินไว้