ทรีนิตี้ชี้ ไทยรับอานิสงส์เงินไหลเข้าเอเชีย 7 แสนล้านดอลลาร์

21 ก.พ. 2565 | 17:37 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 00:59 น.
575

ทรีนิตี้ชี้ หุ้นไทยหล่อมาก หลังประเมินจาก 7 ปัจจัยที่กดดันการลงทุนทั่วโลก ชี้เงินทุนไทยเข้าไทยแล้ว 2 แสนล้านบาท ส่งผลค่าเงินบาทแข็งนำโด่งในภูมิภาค เตรียมรับอานิสงส์อีก 7 แสนล้านดอลลาร์ที่จะไหลเข้าเอเชีย จากการปรับพอร์ตลงทุน คาดเข้าไทย 30-40%

ดร.วิศิษฐ์  องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้  จำกัดกล่าวในงานสัมมนา หุ้นไทยปีขาล "เสือคะนอง หรือ เสือลำบาก" จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย ในหัวข้อ "หุ้นเด็ด ตามเทรนด์ลงทุนปี 2022 ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) ในภูมิภาคเอเชียและไทยคือ

ดร.วิศิษฐ์  องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้  จำกัด

  1. สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
  2. การลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
  3. ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น
  4. ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
  5. ทิศทางอัตราเงินเฟ้อโลก และตลาดพัฒนาแล้วสูง7.8%
  6. ราคาน้ำมันปรับขึ้น
  7. ซัพพลายเชน ดิสรัปชั่น

หากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจมาก โดยเห็นได้จากฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการไหลเข้าตลาดหุ้นกว่า 6 หมื่นล้านบาทและตลาดตราสารหนี้อีก 1.4 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมเม็ดเงินลงทุนโดยตรง(FDI) ที่จะเข้ามาอีกจากนโยบายภาครัฐทั้งการ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่านำสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน 

 

สาเหตุฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในภูมิภาคเอเชีย มาจาก 3 ปัจจัย คือ

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริงของประเทศต่างๆในเอเชียสูงกว่าสหรัฐ  5-10% โดยเฉพาะไทยอัตราผลตอบแทน 10 ปีหรือบอนด์ยิลด์สูงกว่าสหรัฐอยู่ที่ 5% เทียบจาก เงินเฟ้อสหรัฐ เท่ากับ 7.8% และอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.00-0.25%  ขณะที่บอนด์ยิลด์ของไทยอยู่ที่ 5%(ดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% เงินเฟ้อ 2-3%)

 

  • ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ทำให้ฟันด์โฟลว์รอบนี้ไม่ได้ไหลเข้าแค่ไทย แต่ยังไหลเข้าทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยไหลเข้าอินโดนีเซียมากที่สุด เพราะนอกจากอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียไม่สูงมากแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียมีการลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์มาก  และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงบวก10%
  • เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวเติบโต ดังนั้น จึงเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์จากต่างประเทศไหลเข้าในช่วงเริ่มต้นโดยมองว่าแม้จะเกิดภาวะหดตัวของงบดุลของธนาคารกลางทั่วโลกจะไม่เกิดเงินทุนไหลออกขนาดใหญ่จากไทยเหมือนปี 2556

ทรีนิตี้ชี้ ไทยรับอานิสงส์เงินไหลเข้าเอเชีย 7 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนด้วยหรือ Global  AUM  ซึ่งเป็นเงินลงทุนในหุ้นทั่วโลกประมาณ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยค่าเฉลี่ยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาจะลงทุนในตลาดเกิดใหม่(Emerging Market: EM)  ประมาณ 9%  แต่ปัจจุบันลงทุนเพียง 6.3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้มีเม็ดเงินส่วนต่างที่จะเข้าตลาด EM ประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยน่าจะได้ประโยชน์ประมาณ  30-40%

 

“หากดู Yeild Curve ของตลาดพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี  เริ่มบ่งบอกว่า เศรษฐกิจถดถอย ผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐจะติดลบ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วมายังตลาดเกิดใหม่  ซึ่ง yield curve สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวและเงินที่เข้ามาในเอเชียช่วงนี้เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น  ขณะที่ไทยยังมีเงินไทยเข้าจากนโยบายภาครัฐด้วยอย่างการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)”นายวิศิษฐ์กล่าว