เงินต่างชาติทะลัก 2 แสนล้าน ดันบาทแข็งโป๊ก

19 ก.พ. 2565 | 07:20 น.
6.6 k

เงินบาทแข็งค่านำโด่งเพื่อนบ้าน หลังฟันด์โฟลว์ต่างชาติเข้าทั้งตลาดบอนด์และหุ้น โดยเฉพาะเงินทุนเข้าบอนด์ทั้งสั้นและยาวสุทธิ 1.2 แสนล้านบาท พลิกกลับจากช่วงเดียวกันปีก่อนขายสุทธิ 1,859 ล้านบาท KKP Research ระบุส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐสูงขึ้น ส่งผลให้บาทผันผวน

เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลกลับเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าซื้อหุ้นไทยและตราสารหนี้ (บอนด์)   รวมถึงโฟลว์จากธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เปิดซื้อขายที่่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับจากวันที่ 7 กันยายน 2564 

เงินต่างชาติทะลัก 2 แสนล้าน ดันบาทแข็งโป๊ก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มจำกัดลงและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัวในกรอบ sideways เพราะแม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากกว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะยังคงกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมค่าเงินบาทแข็งค่า 3.3% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 จาก 3 สาเหตุหลักคือ

  1. ทิศทางฟันด์โฟลว์เข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้น ที่นักลงทุนเพิ่มการถือครองพันธบัตรไทย 1.2 แสนล้านบาทจากที่เคยขายสุทธิ 1,859 ล้านบาทในปีก่อน และเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทย 58,000 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้น 16,780 ล้านบาท
  2. ตลาดคาดว่า เงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างมากแล้วในปีที่แล้ว ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และ 3.โฟลว์จากธุรกรรมการขายทำกำไรของผู้ค้าทองคำ

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่สกุลเงินดอลลาร์ มีโอกาสพลิกกลับแข็งค่า ทำให้เงินบาทอาจจะอ่อนค่าในระยะหลังจากนี้ได้ โดยมีปัจจัยหลักจากแนวโน้มที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งคงเหลือการประชุมอีก 3 รอบ (เดือนมีนาคม เดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน) หลังจากประชุมไปรอบแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเฟดมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยทั้ง 3 รอบ ซึ่งต้องระมัดระวังโอกาสผันผวน โดยการแข็งค่าของดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้

“ภาพรวมเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าทั้งตลาดบอนด์ 1.2 แสนล้านบาท โดยเข้าบอนด์ ระยะสั้นอายุต่ำกว่า 1 ปีและบอนด์ระยะยาวมากกว่า 1 ปี โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ 11 ก.พ.ส่วนใหญ่จะเข้าบอนด์ระยะสั้น 58,000 ล้านบาท และก่อนหน้านั้นไหลเข้าบอนด์ระยะยาวรวม 62,000 ล้านบาท” นางสาวกาญจนา กล่าว 

 

สำหรับอัตราผลตอบแทน(Bond Yield)ทะยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในพันธบัตรระยะยาว  อายุ10 ปี ปรับขึ้น 0.31% เทียบจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่  1.90%  เป็น 2.21%  (ณ วันที่ 11 ก.พ.65)  พันธบัตรอายุ 5ปี ปรับขึ้น 0.17% จากเดิมอยู่ที่ 1.29% เป็น 1.46% และพันธบัตรอายุ 1ปี Bond Yield ทรงตัว ที่ระดับ 0.51%

 

นายอมรเทพ จาวะลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัดกล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ มองว่า เป็นการแข็งค่าชั่วคราว โดยเชื่อว่า มาจากการเก็งกำไรธีมการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ น่าจะเห็นรายได้ภาคท่องเที่ยวกับมาและการตรึงนโยบายการเงินอยู่ แต่สิ่งที่กังวลคือ เงินเฟ้อสหรัฐ หรือเฟด ขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแรงกดดันตลาดโลก 

นายอมรเทพ จาวะลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด

 

“ต้องจับตาเงินบาทระยะสั้นช่วงนี้ถึงไตรมาส 2 ที่เงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงและเป็นแรงกดดันต้นทุนนำเข้าสินค้าสูง ยิ่งกดดันปัญหาเงินเฟ้อ แต่น่าจะคลี่คลายได้ในครึ่งปีหลังที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่า เพราะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและราคาน้ำมันเริ่มย่อลง”นายอมรเทพ กล่าว 

 

ด้าน KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทรรายงานว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัวอย่างร้อนแรงและเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้เฟดเปลี่ยนท่าทีและส่งสัญญาณจะหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น ตั้งแต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนไปถึงการปล่อยให้ขนาดของงบดุลเริ่มเล็กลง หรือที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT) และนับเป็นครั้งที่ 2 ของโลกการเงินที่เฟดจะกลับลำนโยบายจากอัดฉีดสภาพคล่องด้วย QE เป็นถอนสภาพคล่องออกจากระบบ

 

"การปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติในครั้งนี้ต่างจากการปรับนโยบายครั้งก่อน คือเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นกว่าและเร็วกว่า จนทำให้เกิดภาวะผันผวนในตลาดหุ้นและดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น"

 

สำหรับผลกระทบต่อไทย แม้ KKP Research คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในปีนี้ และอีก 4 ครั้งในปีหน้าและเริ่มลดขนาดงบดุลในช่วงกลางปี แต่ประเมินว่า จากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้จนถึงช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า หลังจากนั้นอาจขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไม่ปรับขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการถอนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อาจทำให้ดอกเบี้ยในตลาดการเงินและต้นทุนการกู้ยืมเงินในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้

 

นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังคงมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังไม่กลับมา

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,758 วันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565