สศค. เผย GDP ปี 65 โต 4% ชี้อาหารแพง หนี้ครัวเรือน ไม่กระทบกำลังซื้อ

28 ม.ค. 2565 | 12:33 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 19:52 น.

สศค. คาดเศรษฐกิจไทยปี 65 โต 4% หลังรัฐบาลกลับมาใช้มาตรการ Test & Go เริ่ม 1 ก.พ.นี้ คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,536% และสร้างรายได้กว่า 4 แสนล้าน ขณะที่ราคาอาหารแพงและหนี้ครัวเรือน เชื่อไม่กระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% (ช่วงคาดการณ์ 0.9% ถึง 1.4%) เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมในช่วงเดือนตุลาคม 64 ที่คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 1% เนื่องครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 4% (ช่วงคาดการณ์ 3.5% ถึง 4.5%)

 

“การเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร มองเป็นการเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็มีการเข้าไปดูแลราคาอาหารและพลังงาน รวมทั้งปริมาณซัพลายให้เพียงพอต่อความต้องการ จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ และยังเชื่อว่าการใช้จ่ายในประเทศยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้ครัวเรือน ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนกว่า 70% เป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ รวมทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ ขณะที่หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนเพียง 27% เท่านั้น จึงมองว่าจะไม่กระทบกับอำนาจซื้อมากนัก” นายพรชัย กล่าว

 

พรชัย ฐีระเวช  ผอ.สศค. ในฐานะโฆษก ก.คลัง

สำหรับปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในปี 65 คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและทั่วโลก เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด การใช้จ่ายในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคเอกชนจะขยายตัว 4.5% ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้หลังรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป โดยคาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 7 ล้านคน ขยายตัวจากปี 64 ถึง 1,536% สร้างรายได้ให้ประเทศ 4 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 1,217%  ขณะที่การส่งออกคาดจะขยายตัวที่ 3.6% ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ คาดจะมีการใช้จ่ายเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินแก้ปัญหาโควิด-19 เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ คาดจะขยายตัว 1.2% และ 3.7% ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่น ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัว 5% ทั้งนี้ในส่วนของเสถียรภาพภายในประเทศ คาดเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.4% – 2.4%) และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนดที่ระดับ1.0% - 3.0% ต่อปี

 

นอกจากนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 ได้คาดการณ์ภายใต้สมมติฐาน คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าทั้ง 15 ประเทศ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ขณะที่ค่าเงินบาท คาดจะอ่อนค่าจากปี 64 อยู่ที่ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 72.5 เหรียญ/บาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 4.8% จากปี 64

 

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

2) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

3) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง

4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ

5) ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง