ธปท.ยกระดับกำกับความเสี่ยงแบงก์รัฐ เริ่ม 1 ม.ค.65

12 ธ.ค. 2564 | 13:54 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2564 | 20:54 น.
1.7 k

ธปท.ส่งหนังสือเวียนถึงแบงก์รัฐ รวบ 5 เกณฑ์กำกับดูแลรวมที่เดียว หวังยกระดับกำกับดูแลความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพขึ้น เริ่มมีผลบังคบ 1 ม.ค.65

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท. โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) เพื่อยกระดับการดำเนินการของแบงก์รัฐให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และสามารถดำเนินการตามพันธกิจได้อย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง  

 

ครั้งนี้ ธปท. เห็นควรทำหลักเกณฑ์กำกับดูแลแบงก์รัฐ 5 ฉบับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

สำหรับหลักเกณฑ์กำกับดูแลแบงก์รัฐ ได้แก่ หลักเกณฑ์การ ให้บริการผ่านช่องทางโทรศัพท์ และช่องทางดิจิทัลของแบงก์รัฐ ซึ่งปัจจุบันแบงก์รัฐได้พัฒนาและขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ธปท.จึงได้ทำการออกหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมให้แบงก์รัฐให้บริการภายใต้ขอบเขตตามกฎหมายจัดตั้งและที่กระทรวงการคลังกำหนดได้อย่างเหมาะสม

 

โดยจะต้องมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีแนวทางดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม และความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแบงก์รัฐจะต้องทำการขออนุญาตจาก ธปท. หากจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในครั้งแรก หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของแบงก์รัฐ โดย ธปท.มุ่งหวังให้แบงก์รัฐให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ มีการสร้างและพัฒนากรอบการกำกับดูแลด้านความสี่ยงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมให้แบงก์รัฐเป็นองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมในการบริหารความเสี่ยง มีระบบบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการหรือประชาชน

 

พร้อมกันนั้นยังมีการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือบีซีเอ็ม และการจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือบีซีพี ของแบงก์รัฐ โดย ธปท.กำหนดแนวทางครอบคลุมเรื่องการจัดทำนโยบาย บีซีเอ็ม และกระบวนการในการดำเนินการเพื่อรองรับเหตุการณ์หยุดชะงักทางธุรกิจ ตั้งแต่การระบุและประเมินความเสี่ยง และการจัดทำแผนบีซีพี การดำเนินการตามแผน

 

ตลอดจนการติดตามและประเมินผล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการว่า หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การปฏิบัติงานตามปกติต้องหยุดชะงักเกิดขึ้น ธุรกรรมงานที่สำคัญของแบงก์รัฐจะสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง หรือกลับมาดำเนินการตามปกติภายในเวลาที่เหมาะสม และลดผลกระทบหรือความสูญเสียทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น

 

ขณะเดียวกันมีการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแบงก์รัฐ ธปท.ได้กำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ โดยครอบคลุมเรื่องโครงสร้างและสายการบังคับบัญชา การจัดตั้งฝ่ายงานกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องทุกระดับให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบ 3 ระดับ

 

ตลอดจนส่งเสริมให้แบงก์รัฐมีเครื่องมือและระบบงานที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยว ข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงหรือฐานะทางการเงินของแบงก์รัฐได้

 

ในส่วนของฉบับท้ายสุด คือ การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในของแบงก์รัฐ ธปท.ออกแนวปฏิบัติเพื่อให้ปฏิบัติเพิ่มเติมจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและหน่วยตรวจสอบภายในของรัฐวิสาหกิจ โดยเพิ่มความชัดเจนเรื่องบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของสายงานตรวจสอบภายใน เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานตรวจสอบภายในปฏิบัติงานได้อย่างอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อาคารสงเคราะห์(ธอส.)กล่าวว่า หนังสือเวียนดังกล่าวไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นสิ่งที่ธนาคารรัฐกำกับดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการออกหนังสือเวียนรวมจากที่เคยมี 5 ฉบับรวมไว้ที่เดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจน 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.)