เปิดปัจจัยเสี่ยงหนี้สาธารณะไทยปี 65 หลังดอกเบี้ยขาขึ้น

07 ธ.ค. 2564 | 10:58 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 18:07 น.

สบน. เปิดแผนบริหารหนี้สาธารณะไทยปี 65 เผยปัจจัยเสี่ยงหลังดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น เร่งทำบอนด์สวิงชิงหลังเงินกู้กว่าแสนล้านใกล้ครบอายุพร้อมกันในช่วง 2-3 ปีนี้ พร้อมคาดไม่เกิน 5 ปี ปรับกรอบวินัยการคลังลงไปสู่ระดับปกติ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.คาดการณ์ว่าในสิ้นปีงบประมาณ 65 หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 62.69%  ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไม่ถึง 70% ตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่ขยายไว้  โดยเพิ่มจากปัจจุบันที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 58.76% ของจีดีพี  ทั้งนี้การที่รัฐบาลขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เป็นการเปิดช่องว่างให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มหากมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งยังสามารถกู้ได้อีกประมาณ 1.2 - 1.3 ล้านล้านบาท  

 

สำหรับความเสี่ยงของรัฐบาลในเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะต่อจากนี้ มี 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้นตามไปด้วย และ 2.การกระจุกตัวของหนี้สาธารณะที่ครบกำหนดในช่วง 2 -3 ปีข้างหน้ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่โดยมากเป็นการกู้ระยะสั้น

แพตริเซีย มงคลวนิช  ผอ.สบน.

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สบน. ได้ดำเนินการบริหารความเสี่ยงและปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้หนี้ของรัฐบาลมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสมภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินและรุ่นอายุที่หลากหลาย อาทิ การทำบอนด์สวิทชิง หรือ การทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนตราสารหนี้รุ่นเดิมที่นักลงทุนถือครองอยู่ กับตราสารหนี้รุ่นอื่น และการออกพันธบัตรทำเป็นตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของหนี้ โดยมีความสอดคล้องกับภาวะตลาดและความต้องการของนักลงทุนภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงแบ่งเบาการนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ชำระหนี้จนมากเกินไป ซึ่งอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังได้

 

ขณะที่แผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2565 มีมติ ครม. วันที่ 28 ก.ย.64 กำหนดกรอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ

  1. แผนก่อหนี้ใหม่ ทั้งของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เป็นวงเงินทั้งหมด 1.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นของรัฐบาลโดยตรง 1.2 ล้านล้านบาท และเป็นของรัฐวิสาหกิจ 1.4 แสนล้านบาท และของหน่วยงานรัฐอื่นๆ อีก 350 ล้านบาท
  2. แผนบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 1.37 ล้านล้านบาท และของรัฐวิสาหกิจ 1.34 แสนล้านบาท
  3. แผนการชำระหนี้ วงเงิน 3.39 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ วงเงิน 2.97 แสนล้านบาท และแผนชำระหนี้จากแหล่งอื่นๆ หรือรายได้ของรัฐวิหสากิจ 4.1 หมื่นล้านบาท

“แผนบริหารหนี้ดังกล่าว สามารถปรับปรุงได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจที่ทำขึ้นมาเพื่อโดยประเมินการณ์สิ่งที่ต้องการใช้ ซึ่งแผนบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจจะมีการก่อหนี้ 2 ส่วน คือ การกู้เพื่อการลงทุน และการกู้เพื่อดำเนินการของหน่วยงานนั้นเอง ซึ่ง สบน. ในฐานะผู้บริหารหนี้ ก็อยากเห็นการกู้เพื่อการลงทุนเป็นไปตามแผน ไม่อยากให้มีการปรับ เพราะการลงทุนเกิดผลทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ส่วนการก่อหนี้เพื่อบริหารการดำเนินงานของหน่วยงานเอง หากไม่มีการเบิกจ่ายถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนว่าหน่วยงานนั้นมีเงินหมุนเวียนมากพอ” นางแพตริเซีย กล่าว

 

ผอ.สบน. กล่าวด้วยว่า ในการบริหารหนี้เดิม จะถูกรวมอยู่ในตัวเลขหนี้สาธารณะแล้ว ดังนั้นจะนับเฉพาะในส่วนของหนี้ใหม่เท่านั้น คือ 1.12 ล้านล้าน พร้อมย้ำรัฐบาลยังมีวินัยในการชำระหนี้ โดย พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.63 ที่กำหนดให้ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระ ไม่น้อยกว่า 2.5- 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณนี้ สำนักงบประมาณจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้ส่วนของหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระราว 3% ของงบประมาณรายจ่าย หรือประมาณ 100,000  ล้านบาท

 

สำหรับการปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะนั้น กฎหมายได้กำหนดให้มีการทบทวนทุกๆ 3 ปี ซึ่งมี 2 เงื่อนไข คือ ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 รายได้ประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลไม่มีความต้องการใช้เงินเพิ่ม ก็สามารถลดกรอบกลับมาอยู่ที่ 60% ของจีดีพีได้  แต่ถ้าหากสถานการณ์โควิด-19 ยังลากยาว หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในการลงทุนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็ยังสามารถคงกรอบเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 70% ได้ เพื่อให้มีความคล่องตัว โดยเบื้องต้น สบน.คาดน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปีที่จะปรับกรอบวินัยการคลังลงไประดับปกติ