“อาคม” เปิด 6 ทางรอดธุรกิจประกันภัย แนะเร่งปรับตัว

26 ต.ค. 2564 | 11:39 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 19:11 น.

“อาคม” แนะ 6 ทางรอดธุรกิจประกันภัย ต้องเร่งปรับตัวรับวิถีชีวิตแบบนิวนอมัล ย้ำต้องบริหารความเสี่ยงเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด พร้อมหวังใช้กลไกอุตสาหกรรมประกันภัยลดความเหลื่อมล้ำ ทำไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand Insurtech Fair 2021 โดยกล่าวว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับครัวเรือนและผู้ประกอบการ ดังนั้นธุรกิจประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนจากผู้มีเงินออม เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตระยะยาว

 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ แม้จะมีการนำเทคโนโลยีหรือเครื่องมือต่างๆ ใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้า และมีการเตรียมการป้องกันอย่างดี แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงและความเสียหายได้ พร้อมแนะ ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงตามวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ นิวนอมัล ใน 6 เรื่อง คือ

งาน Thailand Insurtech Fair 2021

1.ด้านเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ การทำธุรกรรมกับภาครัฐ การจ่ายค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต และการเสียภาษี สามารถทำผ่านมือถือได้ โดยหวังให้ภาคประกันภัย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อลดภาระการเดินทาง และลดการใช้กระดาษ

 

2.ด้านสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นธุรกิจประกันภัยจะต้องปรับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

 

3.ด้านการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปี 2565 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของจำนวนประชากรไทย แนะการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นแหล่งออมเงิน ที่ระหว่างทางจะต้องได้ผลตอบแทนให้กับผู้เอาประกัน ไม่ใช่การมุ่งเฉพาะผลตอบแทนเมื่อครบอายุประกัน

 

Thailand Insurtech Fair 2021

4.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยยังขาดประกันวินาศภัยที่ให้ความคุ้มครองไปถึงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ทั้ง สนามบิน ท่าเรือ รถไฟและถนนต่างๆ ในขณะที่ทั่วโลกก็ทำกัน

 

5.ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG คือการพัฒนาองค์รวม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และลดของเสียที่เกิดขึ้น ควบคู่กับ ESG โดยเฉพาะด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ

 

6.การบริหารความเสี่ยง ซึ่งจำเป็นต้องมีในทุกธุรกิจ โดยต้องมีการคาดการณ์ความเสี่ยงของธุรกิจในอนาคต มีการทดสอบความอ่อนไหวของธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัยจะต้องมี เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้

 

พร้อมกันนี้ นายอาคม ยังกล่าวทิ้งท้าย ถึงความคาดหวังในอุตสาหกรรมประกันภัยในการเป็นกลไกหลักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพจากภายในและภายนอก หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ลดความยากจน เหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง