ยาสูบฯ เตรียมปรับราคาบุหรี่ให้สอดคล้อง “ภาษีบุหรี่ใหม่”

28 ก.ย. 2564 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 23:46 น.

ผู้ว่ายาสูบฯ รับหากภาษีบุหรี่ใหม่ปรับขึ้นกระทบรายได้ ยสท.แน่นอน เผยเตรียมพิจารณาปรับราคาบุหรี่ให้สอดคล้องกับภาษีบุหรี่ใหม่ที่จะบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รับมีแนวคิดออกบุหรี่ตัวใหม่สู้ตลาด แต่อาจเกิดขึ้นยาก

นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่แน่ชัด แต่ยอมรับว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จริง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท. อย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีการปรับภาษีบุหรี่ ทำให้ยอดขายเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านมวนต่อปี จากก่อนหน้านี้ที่เคยทำได้กว่า 2.8 หมื่นล้านมวนต่อปี ดังนั้นเมื่อมีการบังคับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ยสท. จะต้องมีการปรับราคาบุหรี่ให้สอดคล้องกับอัตราภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นจริง ส่วนจะมีการออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ตัวใหม่ที่มีราคาต่ำเพื่อไปสู้ในตลาดหรือไม่นั้น ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจ แต่อาจจะเกิดขึ้นยาก เพราะอาจไม่สอดคล้องกับด้านสาธารณสุขที่ต้องการให้คนลดเลิกการสูบบุหรี่

 

“การออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ใหม่มาสู้กับตลาดหรือบุหรี่ต่างชาติ อาจเป็นเรื่องยาก เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากหลายฝ่าย เช่น คณะกรรมการพิจารณา ด้านสาธารณสุข รวมถึงสภาพตลาด ที่ต้องไปคุยกับผู้ค้าต่างๆ แต่วันนี้บุหรี่จากต่างประเทศไม่น่ากลัวเท่ากับบุหรี่เถื่อน ที่พบว่ามีการลักลอบนำเข้าสูงมาก หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากอดีต เนื่องจากมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศมาก” นายภาณุพล กล่าว

 

ภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการ ยสท.

อย่างไรก็ตามผู้ว่าการยาสูบ ยอมรับว่าจากข่าวการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการกักตุนบุหรี่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าบุหรี่ยังมีเพียงพอ และไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงไปประมาณ 5% - 6% จากยอดขายที่ 18,000 ล้านมวนต่อปี พร้อมกันนี้ นายภาณุพล ยืนยันว่าแม้ที่ผ่านมารายได้ของ ยสท. ลดลง แต่ไม่กระทบกับความมั่นคงของ ยสท. แม้กำไรจะลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี จากก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2559 – 2560 ที่มีกำไรอยู่ที่ 9,400 ล้านบาทต่อปี ก็ตาม

โดยในวันนี้ (28 ก.ย. 2564)  ยสท. ได้ร่วมมือกับ บริษัท ซานตาเฟ่ ฟาร์ม แอลแอลซี (สหรัฐอเมริกา) ทำแผนธุรกิจในการพัฒนากัญชง เพื่อหาพืชทดแทนช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ หลังจากมีการลดโควตาการรับซื้อใบยาลง กระทบต่อชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบกว่า 1.8 หมื่นครัวเรือน หรือประมาณ 5 แสนราย ซึ่งขั้นตอนในความร่วมมือหลังจากนี้ จะมีการศึกษาเมล็ดพันธุ์ของกัญชง และพื้นที่ในการเพาะปลูกในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ เชื่อว่าหลังจากนั้นจะมีสถาบันการเงินที่เข้ามาให้การสนับสนุน

 

โดยความร่วมมือดังกล่าว นายภาณุพล กล่าวว่า จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่กว่า 3-4 เท่า จากเดิมปลูกใบยารายได้เฉลี่ย 2.3 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่งกัญชงสามารถแปลรูปได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นเสื้อผ้า แบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น พร้อมยืนยันว่า ยสท. จะไม่นำกัญชง กัญชา ไปใส่ในบุหรี่ในประเทศแน่นอน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวไร่ ยสท. ก็มีแนวทางตั้งบริษัทลูก เพื่อเป็นตัวกลางในการขายกัญชงให้กับเกษตรกร

 

“แม้ตอนนี้ ยสท. ยังไม่ได้อำนาจในการปลูกกัญชง กัญชา แต่เราจะดำเนินการความร่วมมือไปก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกฎหมาย ซึ่งตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่อนุมัติกฎหมาย เพราะต้องไปถามรายละเอียดจากสาธารณะสุขอีกครั้งก่อน แต่กฤษฎีกาก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้แล้ว โดยคาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะได้รับการอนุมัติ” นายภาณุพล กล่าว