ขยายเพดานหนี้ เปิดช่องคลังกู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้านบาท

21 ก.ย. 2564 | 18:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2564 | 01:54 น.

"อาคม" แจง ขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม 10% เปิดพื้นที่คลังกู้เพิ่ม 1.2 ล้านล้านบาท แต่จะกู้เพิ่มหรือไม่ต้องดูความจำเป็นอีกครั้ง ยันยังมีเงินตุนอีกกว่า 3 แสนล้านบาทใช้แก้ปัญหาโควิดในปี 65

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง กรณีขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เป็น 70% ต่อจีดีพี จากเดิมที่ 60% ต่อจีดีพี นั้น เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การคลังในการบริหารเศรษฐกิจในภาวะไม่ปกติ โดยการขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นอีก 10% จะทำให้รัฐบาลมีช่องในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท แต่ทั้งนี้การจะกู้เพิ่มหรือไม่นั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเศรษฐกิจขณะนั้น

 

พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินกู้ จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีการวางกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินอีก 3.6 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในปีงบประมาณ 65 ดังนั้น กรณีโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ หรือ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และจะเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็จะมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงินอีกครั้ง  

“การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะในปี 63 และปี 64 กระโดดขึ้นมาและใกล้เคียง 60% โดยคาดการณ์ว่า ณ ก.ย.64 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58.96% ซึ่งตามปีงบประมาณถือว่ายังต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 60% แต่หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. อีก 3 แสนกว่าล้านบาทในปี 65 ก็จะทำให้หลุดกรอบที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงต้องขยับเพดานเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง” นายอาคม กล่าว  

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวอีกว่า มูลหนี้ปัจจุบันที่ 8.9 ล้านล้านบาท เป็นมูลหนี้คงค้าง ซึ่งการก่อหนี้ของรัฐบาลในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ใช่การกู้เพื่อการบริโภค ซึ่งในการเยียวยาและแก้ปัญหาภัยธรรมชาติเป็นการใช้งบกลางเป็นหลัก ขณะที่การแก้ปัญหาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 2563 และออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทในปี 2564

 

“ปี 63 รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ และเม็ดเงินที่กู้ส่วนใหญ่ไปถึงมือประชาชน แต่ประเด็นอยู่ที่การกู้สูงหรือไม่ ซึ่งจะต้องไปดูที่ตัวตั้ง ก็คือ GDP โดยในปี 63 GDP ติดลบ เมื่อตัวตั้งคือเงินกู้เพิ่ม แต่ตัวหารคือ GDP ติดลบ ก็ทำให้มองว่าสัดส่วนหนี้สูงไปด้วย แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่วางไว้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปิดประเทศโดยเร็วและต้องสร้างสมดุลในการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้สามารถเดินหน้าเศรษฐกิจได้” นางอาคมกล่าว

 

พร้อมระบุ อดีตที่ผ่านมา ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2545 กรอบเพดานหนี้สาธารณะของไทยเคยอยู่ที่ 65% ซึ่งหนี้สาธารณะขณะนั้นอยู่ที่ 54% โดยไม่ใช่หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อการลงทุน แต่หลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจึงได้ปรับลดกรอบเพดานหนี้ลงมาอยู่ที่ 60%