"รัฐบาลลุงตู่” โค่นแชมป์ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ในฐานะผู้กู้มากที่สุด

20 ก.ย. 2564 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 23:06 น.
1.8 k

รัฐบาลลุงตู่ เดินหน้าขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% เป็น 70% รองรับการกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยาโควิด เผยก่อหนี้เพิ่มอีก 2.31 ล้านล้านบาท โค่นแชมป์ รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยได้ชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่กู้เงิน มากที่สุด

เป็นเวลา 15 ปีของรัฐบาลไทย  ที่จัดทำงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขาดดุลงบประมาณ หมายถึง รัฐบาลสามารถหารายได้ได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ที่จะจ่ายไป ส่วนต่างก็ต้องกู้มาเพิ่มเติม  เพื่อให้รายได้เพียงพอกับรายจ่าย  หรือถ้าเป็นเอกชนเรียกว่า การทำงบดุล แต่ถ้าเอกชนจะต้องกู้ต่อเนื่องมายาวนาน 15 ปีก็อาจเข้าข่ายหนี้สินล้นพ้นตัว ก็เป็นได้

 

จากข้อมูลย้อนหลัง ปีงบประมาณ 2537 เป็นปีที่จัดทำงบประมาณขาดดุล แต่สัดส่วนการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพียง 4% (ข้อมูลจากงบประมาณโดยสังเขป ปี พ.ศ. 2552 ) หลังจากนั้นช่วงปี 2538-2541 เป็นการจัดทำงบประมาณสมดุล ก่อนจะทำเป็นงบประมาณขาดดุลในช่วงปี 2542-2547 และกลับมาทำงบประมาณสมดุลอีกครั้งในช่วงปี 2548-2549

 

แต่หลังจากที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2551 รัฐบาลได้เริ่มทำงบประมาณขาดดุลมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550  แต่สัดส่วนการกู้ไม่มากประมาณ 9% ของงบประมาณรายจ่าย

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในวันที่  17 ธันวาคม 2551  มีการเสนอกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีและจัดทำเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2552 ภายใช้งบประมาณรายจ่าย 1,835,000 ล้านบาท  เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 249,500 ล้านบาท หรือสัดส่วนเพียง 13.6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

การจัดทำงบประมาณปี 2552

ปี 2552 ต่อเนื่องจากปี 2551 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม ที่สหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้จำทำงบกลางปีขึ้น ภายใต้กรอบวงเงิน 116,700 ล้านบาท แต่มีการกู้จริงเพียง  97,560.5 ล้านบาท และยังมีการกู้เพื่อสำรอง กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อีก 94,000 ล้านบาท

 

ดังนั้น เมื่อปิดงบสิ้นปี 2552 จึงพบว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงถึง  441,060.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.6% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งเต็มเพดานวงเงินสูงสุดที่กู้ได้ตามพ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ คือ 441,280.9 ล้านบาท  และถูกจัดว่าเป็น รัฐบาลที่กู้เงินมากที่สุด

การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

ทั้งนี้พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ กำหนดการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในแต่ละปีต้องไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี กับอีก 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ สำหรับการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยของหนี้รัฐบาล   

 

ขณะเดียวกันในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังมีการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้โครงการ ไทยเข้มแข็ง อีก 4 แสนล้านบาท  แม้วงเงินกู้ตามพ.ร.ก.จะแยกออกจากเงินกู้ตามพ.ร.บ แต่ทุกก้อนจะถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ การกู้เงินดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่อยู่ในสัดส่วน 37.27% ในปี 2551 กระโดดขึ้นเป็น 45.22% ในปี 2552 แต่ยังต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้  ที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต้องไม่เกินกว่า 60% ของจีดีพี  

กลับมาที่ “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธิ์  จันทร์โอชา จึงพิจารณาจะขยายเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี เพราะอะไร

 

รัฐบาลลุงตู่ ที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในช่วง 8 ปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ได้ใช้งบประมาณขาดดุลมาอย่างเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557  เพียงแต่ช่วงแรกๆ ปี 2557-2558 เป็นการดุลเพียงเล็กน้อย ประมาณ 9% ของงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น

 

นับจากปี 2559 ไม่เพียงสัดส่วนการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจะสูงขึ้น แต่ระหว่างปี ยังมีการจัดงบกลางปีเพิ่มอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า มีการกู้เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้ในงบประมาณ โดยปีงบประมาณ 2559 มีการทำงานกลางปี 56,000 ล้านบาท ปีงบประมาณปี 2560 ทำงบกลางปีเพิ่มอีก 190,000 ล้านบาทและปี 2561 มีการทำงบกลางปีเพิ่ม  150,000 ล้านบาท

การจัดทำงบประมาณปี 2565

สำหรับปี 2563 ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณ ได้ตั้งกรอบงบประมาณรายจ่ายที่  3.2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ  469,000 ล้านบาทคิดเป็น 14.7% ของงบประมาณรายจ่าย แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  รัฐบาลได้จัดกรอบรายจ่ายใหม่ โดยปรับลดกรอบงบชำระคืนต้นเงินกู้ จากเดิมที่ตั้งไว้ 89,170.4 ล้านบาท โอนไปอยู่ในงบประมาณรายจ่าย 35,303 ล้านบาท จึงเหลืองบชำระคืนต้นเงินกู้เพียง 53.867.4 ล้านบาท

 

การปรับลดวงเงินชำระต้นเงินกู้เหลือเพียง 53,867.4  ล้านบาท ทำให้วงเงินกู้สูงสุดที่สามารถกู้ได้ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณลดลงจาก  702,564.4 ล้านบาทเหลือ 683,093.9  ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากโควิด -19 ยังทำให้รายได้รัฐบาลพลาดเป้าหมายไปจำนวนมาก ส่งผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อีก 214,093 ล้านบาท ในที่สุด ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลต้องกู้เงินเต็มเพดานการกู้ยืมที่ 683,093 .0 หรือคิดเป็น 21.3% ของงบประมาณรายจ่าย   

 

 

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาทมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดอนุมัติวงเงินไปแล้ว 980,828.23 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 19,171.77 ล้านบาทที่จะต้องยืนขออนุมัติใช้วงเงินก่อนที่ พ.ร.ก.จะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2564

 

สำนักงานบบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ประเมินว่า แม้จะมีการรวมหนี้ก้อน 1 ล้านล้านบาท เข้าไปแล้ว ระดับหนี้สาธารณะของไทยเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยคาดว่า จะอยู่ที่ 58.88% จากข้อมูลหนี้สาธารณะ คงค้าง ณ เดือน กรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 8.91 ล้านล้านบาท  คิดเป็น 55.59% ของจีดีพี

 

อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำงบประมาณปี 2565 ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการทำงบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท เต็มเพดานสูงสุดที่พ.ร.บ.วิธิการงบประมาณ กำหนดไว้ ท่ามกลางความแน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อรายได้ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ ที่ยังมีความเสี่ยงสูงว่า รายได้ที่ตั้งไว้  2.4 ล้านล้านบาท จะไม่ได้ตามเป้าหมาย แม้ว่า จะต่ำกว่าปีก่อนถึง 10% หรือลดลงจาก 2.677 ล้านล้านบาทก็ตาม

 

เมื่อเงินกู้ภายใต้กรอบงบประมาณ จะไม่สามารถกู้อะไรได้เพิ่มเติมอีก แนวทางหนึ่งก็คือ การออกเงินกู้ก้อนใหม่ อาจจะเป็นพ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ก็อีกเรื่อง แต่ที่แน่ๆ จะมีการกู้เข้ามาเพิ่มเติมอย่างแน่นอน  เพราะถ้าดูสัดส่วนหนี้ที่คาดว่า จะปิดที่ 58.88% ของจีดีพีในสิ้นปีงบประมาณ 2564 แต่ยังไม่นับก้อนเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

 

การขยายเพดานหนี้ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลหายใจโล่งขึ้น เพราะหากเทียบกับระดับจีดีพีของประเทศ ณ เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 16.03 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ที่ 70% รัฐบาลจะสามารถก่อหนี้สาธารณะได้ถึง 11.22 ล้านล้านบาท หากหักจากระดับหนี้ปัจจุบันที่มี 8.91 ล้านล้านบาท

 

ดังนั้นรัฐบาลยังสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาโควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีก  2.31 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว