ทำความเข้าใจ ภาษี e-Service กับ 7 คำตอบง่ายๆ

28 ส.ค. 2564 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2564 | 21:11 น.
2.3 k

ทำความเข้าใจ ภาษี e-Service ก่อนที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ หรือ ภาษี e-Service จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 ภาษี e-Service คือ อะไร และจะมีผลกระทบผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเหล่านั้นหรือไม่

ทำความเข้าใจ ภาษี e-Service เทคโนโลโยที่พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดแพลตฟอร์มต่างๆมากมาย  การค้าขายจึงไม่ได้จำกัด เฉพาะในประเทศเท่านั้น เพราะนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ยังมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีต้นทุนทั้งในส่วนของสถานประกอบการ หรือหน้าร้านและที่สำคัญ ไม่มีภาระภาษีต่างๆที่เกิดขึ้นเหมือนกับบริษัทห้างร้านทั่วไปต้องเผชิญ

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเห็นความพยายามของกรมสรรพากร ที่จะสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่การเสนอออกกฎหมายเก็บภาษี e-Commerce จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) จากการให้บริการในต่างประเทศ และจากการนำเข้าสินค้าที่นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรกของราคาสินค้าหรือขณะนั้น เรียกว่า ภาษี e-Business

สุดท้ายด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการยกเว้นการนำเข้าสินค้าขั้นต่ำ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีอากร ซึ่งของไทยคือ หากมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีอากร ทำให้แนวคิดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรกตกไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังพยายามที่จะมีการจัดเก็บภาษีจากการขายสินค้าและบริการจากแพลตฟอร์มต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ และไม่ใช่ปัญหาแค่ไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วย จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างสรรพากรจากประเทศต่างๆทั่วโลก จึงออกมาเป็นในรูป ภาษี e-Service

 

สำหรับประเทศไทย ภาษี e-Service ภายใต้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่  10 กุมภาพันธ์ 2564 และให้มีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือนซึ่งก็คือวันที่ 1 กันยายน 2564 

ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศ (แพลตฟอร์มต่างประเทศ) ที่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) มีหน้าที่มาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร 

เรามี 7 คำถาม ให้เข้าใจง่ายๆกับ ภาษี e-Service

1. Q: บริการทางอิเล็กทรอนิกส์หมายถึงอะไรบ้าง

    A: บริการ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติ เช่น การให้บริการดาวน์โหลดเกม เพลง ภาพยนตร์ออนไลน์ การให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์

2. Q: ใครบ้างที่ต้องจดทะเบียนแวต

     A: แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการแวตคือ

        1.Digital music ,films and  game เช่น Sotify,Jook music

        2.Digital image เช่น Shutter stock

        3.Advertising on online platform เช่น  Facebook,Yutube,Google

        4.On demand streaming service เช่น  Netflix, Disney, Hbo ,Viu,WeTV ,Youtube

        5.Peer to Peer platform เช่น AirBNB

3. Q: แพลตฟอร์มต่างประเทศมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

     A: ยื่นแบบแสดงรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ให้กับกรมสรรพากร โดยคำนวณจากภาษีขาย ไม่ให้หักภาษีซื้อ และห้ามออกใบกำกับภาษี เช่น ขายสินค้าและบริการให้คนไทย 100 บาท ต้องนำส่งแวต 7 บาท

ขณะที่ผู้ประกอบการแวตในประเทศคือ การนำส่งแวตต่อสรรพากรจะเป็นการคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ เช่นซื้อของมา 100 บาท มีแวต 7 บาท  ขายไป 200 บาทมีแวต 14 บาท  เมื่อจะนำส่งแวตจะเป็นภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อคือ 14-7 เหลือ 7 บาทที่นำต้องสรรพากร  หากมีการซื้อสินค้ามาและขายออกไปในราคาเท่าทุน สามารถนำแวตหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือขอคืนจากกรมสรรพากรได้หากเป็นการนำเข้าสินค้าเข้ามา            

4. Q: ต้องยื่นภาษีแวตเมื่อไหร่

     A: ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (P.P. 30.9) พร้อมกับชำระภาษีเป็นรายเดือน โดยให้ดำเนินการผ่านระบบ SVE บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยสามารถยื่นแบบฯได้ตั้งแต่วันที่ 1-23 ของเดือนถัดไป และต้องยื่นทุกเดือน ไม่ว่าจะมีรายรับจากการให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่

5. Q: ผู้ใช้บริการจากประเทศไทย พิจารณาจากอะไร

    A: -ข้อมูลการชำระเงิน เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลธนาคารที่ใช้ชำระ

       -ข้อมูลการอยู่อาศัย เช่น ที่อยู่ของสถานที่พักอาศัย (Home Address)

      -ที่อยู่ในการรับใบเสร็จ (Billing Address) เป็นต้น

     -ข้อมูลช่องทางที่ใช้ในการเข้าถึงบริการ เช่น รหัสประเทศของหมายเลขโทรศัพท์มือถือ IP Address

6. Q: ภาระภาษี e-Service จะตกกับผู้ใช้บริการหรือไม่

     A: ขึ้นกับกลไกตลาดและการรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ หากเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อยรายก็สามารถผลักภาระภาษีให้ผู้ใช้บริการได้เช่น เดิมราคาบริการที่ 100 บาท อาจเพิ่มเป็น 107 บาทได้ แต่ถ้าหากเป็นตลาดผู้แข่งขันหลายราย เช่น ดาโหลดเพลง หากปรับราคาขึ้นก็อาจจะทำให้ลูกค้าหันไปบริการรายอื่นได้

7. Q: ผู้ประกอบการแวตในประเทศ สามารถนำภาษีซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่  

    A: ผู้ประกอบการแวตในประเทศ ยังมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้บริการดังกล่าวตามแบบ ภ.พ. 36 ให้รมสรรพากร โดยสามารถนำมาใช้เป็นภาษีซื้อ เพื่อหักจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ด้วย