อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 32.88 บาท/ดอลลาร์

25 ส.ค. 2564 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2564 | 16:38 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก มุมมองแนวโน้มการระบาดของโควิดข19ในไทยที่ดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.88 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ  32.92 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.00 บาท/ดอลลาร์

 

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทในระยะสั้นมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์การระบาดทั่วโลก กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน แนวโน้มการระบาดของโควิด-19ในไทยที่ดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วนั้น ก็เริ่มดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่ง อาจจะช่วยหนุนให้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น

 

ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะชะลอลงเมื่อใกล้กับระดับแนวรับสำคัญใกล้ โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรอบราคาที่ฝั่งผู้นำเข้าต่างรอทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์ โดยเราคาดว่าจะทยอยเห็นโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทอาจทรงตัวในระดับราคาดังกล่าวได้

 

อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ ซึ่งเรามองว่าประเด็นเฟดทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอี อาจส่งผลต่อการจัดพอร์ตของนักลงทุน ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยลดการลงทุนในภูมิภาค EM Asia ชั่วคราว เนื่องจากอาจกลัวผลกระทบจากการประกาศปรับลดคิวอีของเฟดจะเหมือนเหตุการณ์ QE Taper Tantrum ในปี 2013

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.00 บาท/ดอลลาร์

 

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) จากความหวังการฟื้นตัวของเศษฐกิจโลก หลังแนวโน้มการระบาดของ Delta เริ่มดูไม่น่ากังวลมากนัก จากประเด็นทางการจีนรายงานไม่พบผู้ติดเชื้อ และสหรัฐฯ ประกาศอนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังถูกหนุนด้วยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Bestbuy, JD.com กับ Pinduoduo ของจีน เป็นต้น

 

ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ โดยดัชนี S&P500 ปิดบวก +0.15% นอกจากนี้ หุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น จากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.52% หลัง

 

ฝั่งยุโรป ตลาดหุ้นยุโรปก็ได้รับอานิสงส์จากบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.04% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ Adyen +2.3%, Infineon Tech. +2.0% นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ก็ยังคงปรับตัวขึ้นช่วยพยุงตลาดไว้ อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen +2.1%, BMW +2%

 

ขณะที่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่าทางการจีนอาจเข้ามาจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อยอดขายของบริษัทสินค้าแบรนด์เนม ที่กว่า 30% ของยอดขายมาจากจีน Louis Vuitton -1.9%, Adidas -0.8%, Inditex -0.7%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ หลังจากที่ตลาดเริ่มกลับมาอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยมีความจำเป็นน้อยลง กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.30% ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.30% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตามุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการปรับลดคิวอี ซึ่งรวมถึงอัตราการปรับลดวงการทำคิวอี ในงานประชุมวิชาการประจำปีของเฟด ที่ jackson Hole ในวันพรุ่งนี้ จนถึง สุดสัปดาห์

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทกำไรสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ตามความต้องการหลุมหลบภัย (Safe Haven asset) ที่ลดลง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.91 จุด หนุนให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.175 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงช่วยหนุนให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ต่างปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 70.4 และ 67.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของยุโรป ผ่านการประเมินดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) โดยตลาดมองว่า ปัญหาการระบาดของ Delta ในยุโรปอาจทำให้ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี เดือนสิงหาคมที่จะลดลงสู่ระดับ 100 จุด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงไม่ได้น่ากังวลมากนัก

เนื่องจาก การระบาดในยุโรป แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่า ยอดผู้ป่วยหนัก นอนโรงพยาบาล หรือ ยอดผู้เสียชีวิต กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งไปมาก ทำให้รัฐบาลในยุโรปยังไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด

 

นอกเหนือจากการติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เรามองว่า ตลาดจะรอจับตางานประชุมวิชาการของเฟดที่ Jackson Hole เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทกลับมาปรับตัวอยู่ในกรอบประมาณ 32.93-32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้า เทียบกับระดับปิดของวันทำการก่อนหน้าที่ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังน่าจะได้รับอานิสงส์จากสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ตลาดรอติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด และรายงานข้อมูลยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ