"อนุสรณ์"ชี้อย่างน้อยอีก 2 ปีจีดีพีไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19

16 ส.ค. 2564 | 18:54 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2564 | 01:53 น.

อนุสรณ์ชี้อย่างน้อยอีก 2 ปีจีดีพีไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด ระบุเร็วสุดคือกลางปี 66 แนะทางการปล่อยค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกลของตลาด

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของไทยไตรมาสสองและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆที่เผยแพร่วันนี้ คาดการณ์ได้ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่น่าจะติดลบแต่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำมาก ทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 0.3-1% จากครึ่งปีหลังที่ชะลอตัวลงชัดเจนจากการเติบโต 7.5% ในไตรมาสสองและการขยายตัวในครึ่งปีแรกที่ระดับ 2% อย่างงไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปีนี้จะไม่มีการเติบโตถึงติดลบเล็กน้อยและจะกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาสสี่จากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการลงทุน เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะมีจีดีพีกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ Covid-19 อย่างเร็วสุดคือกลางปี พ.ศ. 2566 โดยต้องมีการขยายตัวอย่างน้อย 3% ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะมีจีดีพีกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 (Covid-19) อย่างเร็วสุดคือกลางปี พ.ศ. 2566 โดยต้องมีการขยายตัวอย่างน้อย 3% ในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 โดยระดับจีดีพีของไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16.125-16.154 ล้านล้านบาท ก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่ 16.89 ล้านล้านบาท ปีที่แล้วเศรษฐกิจติดลบถึง -6.1% ทำให้จีดีพีของเศรษฐกิจไทยดิ่งลงมาอยู่ที่ 15.6 ล้านล้านบาท ทำให้คนไทยมีรายได้ต่อหัวโดยรวมลดลงเฉลี่ยคนละ 21, 624 บาทต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้นี้มีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในช่วงวิกฤตการณ์ แรงงานและธุรกิจท่องเที่ยวและอุตาสหกรรมต่อเนื่องรายได้เฉลี่ยติดลบอย่างมาก แรงงานในภาคบริการและค้าปลีกติดลบ ก่อสร้างรายได้เฉลี่ยติดลบ แรงงานในกิจการขนส่งเดินทางและการบินรายได้ติดลบอย่ามาก เป็นต้น คาดว่ารายได้คนไทยต่อหัวโดยรวมเฉลี่ยของคนไทยจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 243,787 บาทต่อคนต่อปีได้อย่างเร็วที่สุดภายในกลางปี พ.ศ. 2566

อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อหัวหรือ GDP per capita นี้ไม่ได้บอกการกระจายตัวของรายได้ ภายใต้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ Covid ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายได้ย่ำแย่ลงอีก การฟื้นตัวก็จะเป็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่ง จำเป็นที่รัฐบาลต้องมีนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายทางด้านสวัสดิการสังคมที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อคนต่อปี กลุ่มคนเหล่านี้จะมีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวหรือติดอยู่ในกับดักหนี้ จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินการแฮร์คัทหนี้บางส่วนให้ การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีความจำเป็น ควรผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมและควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาให้อยู่ในระดับใกล้ 0% หรือ 0%

อย่างน้อย 2 ปีจีดีพีไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด
สำหรับการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ทางการควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อให้กลไกการอ่อนค่าเงินบาทเป็นตัวปรับสมดุลบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ การอ่อนตัวของเงินบาทจะช่วยสนับสนุนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังโดยทั้งปีจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 6% และอัตราการขยายตัวปริมาณการค้าโลกปีนี้จะอยู่ที่ 8.5% 

โดยคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกน่าจะเติบโตได้อย่างต่ำ 15-16% ในปีนี้ โดยที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวจะต่ำกว่าเป้าหมายมาก และอัตราการว่างงานในภาคท่องเที่ยวและภาคบริการจะอยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.1% โดยมีอุตสาหกรรมจำนวน 4 อุตสาหกรรม ที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเกิน 80% ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน การผลิตยางสังเคราะห์และพลาสติก การผลิตเยื่อกระดาษ และ การกลั่นปิโตรเลียม ส่วนที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเกิน 70% ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป การผลิตกระดาษลอนลูกฟูก เป็นต้น
"เศรษฐกิจไทย Output Gap ยังติดลบสูง ก็คือ ส่วนต่างระหว่างกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน กับ ประสิทธิภาพที่สามารถผลิตได้จริง ต่างกันมาก ติดลบสูง แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตนั้น ผลิตได้น้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งตีความได้ว่า ผลิตน้อย ก็เพราะอุปสงค์ต่ำและความต้องการน้อย และ ยังมีการชะงักงันจากการติดเชื้อในโรงงาน มีเพียงอุตสาหกรรมส่งออกบางประเภทที่ output Gap เป็นบวก"