อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "ทรงตัว"ที่ระดับ 33.46 บาท/ดอลลาร์

11 ส.ค. 2564 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 16:45 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.46 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าโดยรวมค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

 

โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีได้เร็วกว่าคาด ทว่าต้องจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงาน รวมถึง เงินเฟ้อ เพราะหากข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดอาจลดคิวอีได้เร็ว ทำให้ เงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าหรืออ่อนค่าลงมาได้บ้าง

 

นอกจากนี้ประเด็นการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย ยังมีผลสำคัญต่อทิศทางเงินดอลลาร์และเงินบาท โดยหากสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นในฝั่งยุโรป รวมถึงในฝั่งเอเชีย เงินดอลลาร์ก็อาจเริ่มอ่อนค่าลงได้ แต่ทว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดในไทยอย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาการระบาดที่เลวร้ายลงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้อยู่

 

อนึ่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด COVID-19 อาจทำให้ทิศทางของเงินบาทยังคงผันผวนอยู่ในระยะสั้น ผู้ประกอบการจึงควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ใช้ Options เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์


 

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจาก วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure bill) วงเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครอบคลุมถึง การลงทุน Infrasutrcture ใหม่ กว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยแรงหนุนจากการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ช่วยหนุนให้ หุ้นในกลุ่ม Energy, Industrials และ Utilities ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนดังกล่าว ต่างปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ ดัชนี Dowjones ปิดบวก +0.46% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวขึ้นราว +0.10% อย่างไรก็ดี ความคาดหวังต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 3bps ใกล้ระดับ 1.36%  กดดันให้ หุ้นเทคฯ ปรับตัวลดลง ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดลบกว่า -0.49% อนึ่ง ร่างกฎหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาต่อในสภาผู้แทนฯ (House of Representatives) ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า ทางสภาผู้แทนจะมีมติอย่างไร

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +0.26% ตามบรรยากาศตลาดการเงินโดยรวมที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป


 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง  โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.07 จุด ทำให้ สกุลเงินหลัก G7 ส่วนใหญ่ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อาทิ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.171 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 110.6 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ได้ช่วยพยุงให้ เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ปรับตัวแข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 0.734 ดอลลาร์ต่อ AUD

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดได้ โดย หาก CPI เดือนกรกฎาคม พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 5.3% บรรดาผู้เล่นในตลาดก็อาจกลับมากังวลปัญหาการเร่งตัวของเงินเฟ้ออีกครั้งได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว พร้อมกับเงินดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2564 อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.35-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.45 น.) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลง (หลังเงินบาทไม่อ่อนค่าหลุดแนว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวานนี้) และเงินบาททยอยฟื้นตัวมาได้บางส่วน ขณะที่ตลาดรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนนี้ตามเวลาสหรัฐฯ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนก.ค.