ธปท.แจง สคฝ.ลดวงเงินเหลือ 1ล้านบาท -ยังคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึง 98%

09 ส.ค. 2564 | 19:29 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 02:45 น.

ธปท.แจงสคฝ.ปรับลดการคุ้มครองเงินฝากแต่ละรายมีอยู่ในสถาบันการเงิน (สง.) แต่ละแห่งเหลือ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน ย้ำยังคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึง 98% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบสถาบันการเงินซึ่งมีความเข้มแข็งโดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนเวลาการปรับลดวงเงินออกไปอีก

 ธปท.แจงสคฝ.ปรับลดการคุ้มครองเงินฝากแต่ละรายมีอยู่ในสถาบันการเงิน (สง.) แต่ละแห่งเหลือ 1 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน  ย้ำยังคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึง 98% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบสถาบันการเงิน    ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดภาระงบประมาณไม่ให้สูงเกินจำเป็น  ทำให้ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ตรงจุด

ธปท.แจง สคฝ.ลดวงเงินเหลือ 1ล้านบาท -ยังคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึง 98%

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) หรือสคฝ.จะปรับลดการคุ้มครองเงินฝากที่ผู้ฝากแต่ละรายมีอยู่ในสถาบันการเงิน (สง.) แต่ละแห่งเหลือ 1 ล้านบาท โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น การปรับลดวงเงินคุ้มครองฯ ดังกล่าว เป็นไปตามกรอบการดำเนินการที่กำหนดไว้ โดยจะยังสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้ถึงร้อยละ 98 ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ สง. ขณะที่สถาบันการเงินในปัจจุบันมีความเข้มแข็ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนเวลาการปรับลดวงเงินดังกล่าวออกไปอีก                           

 

การปรับลดวงเงินดังกล่าว เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ที่ทยอยปรับลดวงเงินจากการคุ้มครองเต็มจำนวนเป็นขั้นบันไดลงมา เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาปรับตัว ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้ฝากแต่ละรายจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทสำหรับการฝากเงินที่ สง. แต่ละแห่ง และนับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป การคุ้มครองดังกล่าว จะลดลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

การกำหนดระดับวงเงินความคุ้มครองเงินฝากข้างต้น สอดคล้องกับหลักการของระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิผล ซึ่งช่วยให้ทั้งผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินไม่ละเลยการบริหารความเสี่ยง จากเดิมที่อาศัยระบบคุ้มครองเงินฝากในการทำหน้าที่ดูแลความเสี่ยงทั้งหมดแทน นอกจากนี้ การจำกัดวงเงินคุ้มครองที่ได้ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98 ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ สง.) จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดภาระงบประมาณของภาครัฐไม่ให้สูงเกินจำเป็น ทำให้ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณไปสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ตรงจุด

ที่ผ่านมา ธปท. มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด โดยสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง สะท้อนจากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ระดับร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้