เลิกทวงหนี้โหดเหลือ 50 บ. ลิสซิ่งดึงงานกลับ หวั่น6พันลูกจ้างโอเอถูกลอยแพ

07 ส.ค. 2564 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2564 | 00:00 น.
24.7 k

บริษัททวงหนี้กระอัก รัฐเคาะอัตราค่าธรรมเนียมเหลือ 50 บาท ค้างชำระไม่เกิน 1 งวด ลงพื้นที่ติดตามให้คิดแค่ 400 บาท สำหรับรถทุกประเภท วงในอึ้ง! กดรายรับสวนทางต้นทุน ลุ้นนโยบายแบงก์-เช่าซื้อดึงงานกลับทำเอง หวั่นพนักงานโอเอถูกลอยแพ 6 พันคน

ร่างประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ได้มีการลงนามในประกาศนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไป จะนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อลงหนังสือราชกิจจานุเบกษา และจะประกาศใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติหรือบังคับใช้ภายใน 90 วัน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนของปีนี้

 

อัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ ตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ กำหนดให้บรรดาลิสซิ่งหรือบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ เรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ที่ค้างชำระ 1 งวด ได้ไม่เกิน 50 บาท ค้างชำระ 2 งวดขึ้นไป ไม่เกิน 100 บาท และค่าติดตามจากการลงพื้นที่ 400 บาท เป็นต้น ซึ่งมีเหตุผลหนึ่งมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับการร้องเรียนค่าทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม จากการจัดเก็บที่สูงเกินไป

 

เก็บ 50 บาทไม่คุ้มต้นทุน

นางสาวอภิญญา จันทภาโส นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกตกใจ หลังจากเห็นร่างประกาศคร่าวๆ เพราะเป็นอัตราที่ต่ำมาก จากที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทางการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี แต่พอเห็นร่างประกาศนี้ สะท้อนว่า รัฐไม่ได้พิจารณาข้อเสนอหรือรายละเอียดของต้นทุน กระบวนการทำงานของภาคธุรกิจประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด

 

ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเช่าซื้อ ได้สำรวจต้นทุนการทวงหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียนของสมาชิก เสนอให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธปท. ไปแล้ว โดยค้างชำระงวดที่ 1 เก็บที่ 80-100 บาท งวดที่ 2-4 งวดละ 100 บาท และค่าลงพื้นที่ 400 บาท เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการทำงานร่วมกับผู้ว่าจ้างนั้น ทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเช่าซื้อ พยายามช่วยลูกหนี้เต็มที่จนเกินความสามารถแล้ว เพราะสินเชื่อเช่าซื้อหลักประกันมูลค่าสูงและมีค่าเสื่อม ส่วนเจ้าหนี้ต้องกันสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นจึงปล่อยให้บริษัท ติดตามทวงถามหนี้ (Outsource Agent :OA) ทำหน้าที่ติดตามแทน ซึ่งความเป็นจริง ถ้าง่ายก็คงไม่มีอาชีพนี้

อัตราค่าทวงถามหนี้เช่าซื้อรถยนต์

น้อยกว่าค้าจ้างขั้นต่ำ

ปัจจุบันบริษัทสมาชิกของสมาคมทำหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้เฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลัก กระบวนการทำงานเป็นมืออาชีพและอยู่ภายใต้การควบคุมสถาบันการเงินและเช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง

 

ขณะที่บริษัทโอเอเอง มีระบบในการบริหารจัดการในรูปบริษัท มีการลงทุนพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ห้องเซิร์ฟเวอร์ หรือระบบการบันทึกเสียง เพื่อรองรับการทำงานเป็นมืออาชีพ แต่ผลตอบแทนออกมางวดละ 50 บาท เทียบมูลค่ารถธรรมดา 5-6 แสนบาทต่อคัน ค่างวดประมาณ 5,000 บาท หรือราคารถ 3-5 ล้านบาทค่างวด 50,000 บาท ก็คิดค่าทวงถามแค่ 50 บาท เหมือนกัน

 

"ค่าจ้าง 50 บาทไม่เกิน 1 งวดนั้น เป็นอัตราที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำพนักงานใหม่ ซึ่งอยู่ที่ 9,930 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 331 บาทต่อวัน ไม่รวมสวัสดิการหรือค่าบริหารจัดการ โดยแต่ละบริษัทจะมีพนักงานเก่าที่มีอายุงาน 5-10 ปีอีก"นางสาวอภิญญากล่าว

 

ดังน้ั้น เมื่อรายจ่ายไม่สอดคล้องกับรายรับ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าแบงก์หรือเช่าซื้อ และโอเอต่างได้รับผลกระทบ ซึ่งคงจะต้องรอดูทางผู้ว่าจ้างจะมีนโยบายอย่างไร ส่วนสมาคมเองจะมีการประชุมสมาชิกเพื่อหารือกันด้วย โดยยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้อีก เพราะที่ผ่านมาได้พยายามทั้งจัดทำเอกสารและอธิบายกับทางการหลายครั้งเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับฟังเลย

 

หวั่นตกงาน 6 พันคน

แหล่งข่าวจากธุรกิจเช่าซื้อกล่าวว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ฉบับนี้ เป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้พ.ศ. 2558 โดยประธานคณะกรรมการกำกับการติดตามทวงถามหนี้ได้ลงนามในประกาศนี้แล้ว แต่ยังอยู่ในกระบวนการกฎหมาย โดยต้องเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อลงราชกิจจานุเบกษา หลังจากมีประกาศราชกิจจาฯ 90 วัน จึงจะมีผลในทางปฎิบัติคาดว่าประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้

 

ประกาศนี้กำหนดรายละเอียด 6 ข้อหลัก เป็นแนวปฎิบัติเกี่ยวอัตราค่าทวงถามหนี้และค่าธรรมเนียม ซึ่งสมาคมธนาคารไทย สมาคมเช่าซื้อไทยอยู่ระหว่างประชุมเพื่อหารือผลกระทบและการปรับตัว

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารและบริษัทเช่าซื้อส่วนใหญ่ใช้ช่องทางว่าจ้างโอเอในการติดตามทวงถามหนี้ ดังนั้น ประกาศอัตราค่าทวงถามที่ 50 บาท ย่อมกระทบสมาคมโอเอมากที่สุด โดยเฉพาะสมาคม การค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย ซึ่งมีจำนวนพนักงานทั่วประเทศประมาณ 2 หมื่นคน

 

เบื้องต้น คาดว่าถ้าสถาบันการเงินดึงงานกลับไปทำเอง เพื่อลดต้นทุนให้บริษัทอยู่ได้ในส่วนของพนักงานโอเอจะตกงานประมาณ 5,000-6,000 คนหรือ 1 ใน 3 จากทั้งหมดมีประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้นจะต้องมีการหารือร่วมกัน

 

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า ไม่ว่านโยบายธนาคารหรือเช่าซื้อจะดึงงานกลับไปทำเอง หรือจ้างโอเอต่อ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากประกาศนี้แน่นอน เพราะอัตราค่าทวงถามที่ออกมาเตี้ยเกินไป แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งเช่าซื้อและโอเอต้องหารือกัน เพราะกระทบทั้งผู้ว่าจ้างและผู้จ้าง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะลดค่าจ้างโอเอลงขนาดนั้น

 

“ยอมรับตกใจตัวเลขค่าติดตามทวงถามที่ออกมา 50 บาท เพราะเดิมต้นทุนอยู่ที่ 250 บาททางแบงก์และเช่าซื้อช่วยซัพพอร์ตสามารถเรียกเก็บที่ 400 บาท หากเหลือ 50 บาท เขาต้องลดพนักงานเพื่อลดต้นทุนเพื่อให้อยู่ได้ ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะพวกบริษัทเล็กๆ”แหล่งข่าวกล่าว 

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564