หนี้เสียแบงก์ แนวโน้มขาขึ้น โอกาสทำกำไรลด

06 ส.ค. 2564 | 16:58 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2564 | 23:58 น.
1.1 k

“ทิสโก้” ชี้ ธุรกิจแบงก์ครึ่งหลังปี 64 โอกาสทำกำไรลดตามความต้องการสินเชื่อ ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอลขาขึ้น ทุกธนาคารเน้นดูแลลูกค้าใกล้ชิด ค่ายทีทีบีคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 3.6% หลังสิ้นเดือนมิ.ย.เงินสำรองรวม 15 แห่งเพิ่ม 14.02% แตะ 7.86 แสนล้าน

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและบานปลาย จากการรายงานผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มียอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 12.92 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.83 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 2.24% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 12.64 ล้านล้านบาท

 

และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า เงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิเพิ่มขึ้น 4.92 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.96% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 12.43 ล้านล้านบาท โดย 5 ธนาคารสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิเพิ่มได้แก่ ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เกียรตินาคินภัทร ธนชาต กสิกรไทย กรุงไทย

  หนี้เสียแบงก์ แนวโน้มขาขึ้น โอกาสทำกำไรลด

 

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีจำนวน 5.38 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 22,730 ล้านบาทหรือคิดเป็น 4.40% จากเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 516,249 ล้านบาทและเพิ่มขึ้น 37,369 ล้านบาทหรือคิดเป็น 7.44% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 501,610 ล้านบาท นำโดย ไอซีบีซีไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย ยูโอบี และทีเอ็มบี

 

ส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่ต้องกันตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2464 จำนวนรวม 786,230 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 49,442 ล้านบาทหรือ 6.71% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 736,788 ล้านบาทและเพิ่มขึ้น 96,661 ล้านบาทหรือ 14.02% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 689,569 ล้านบาท นำโดยกรุงไทย ไทยพาณิชย์ ทีเอ็มบี เกียรตินาคินและยูโอบี 

สำหรับภาพรวมธุรกิจครึ่งปีหลัง นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ กลุ่มทิสโก้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไตรมาส 3 น่าจะถึงจุดต่ำสุดในทุกด้าน เช่น หนี้เอ็นพีแอลคงจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการทำกำไรสุทธิมีแนวโน้มจะลดลง สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่ปรับลดลง ขณะที่การกันสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นกับธนาคารแต่ละแห่งด้วย 

 

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับธนาคารทุกแห่ง ขณะนี้จะเน้นดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด นอกจากมาตรการช่วยเหลือของธปท.แล้ว แต่ละธนาคารยังพยายามจะออกมาตรการให้เหมาะกับลูกค้าของตัวเอง เช่น ทิสโก้เอง ออกมาตรการ “คืนรถจบหนี้” เพราะธนาคารมีลูกค้าเช่าซื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีก่อนทดลองทำใน ภูเก็ต และเชียงใหม่ ผลตอบรับดีมีลูกค้าเข้ามา 400 คัน

 

ปีนี้จึงทำเป็นการทั่วไป ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดีเช่นกัน มีลูกค้าเข้ามาอีกประมาณ 1,500-1,600 คัน ซึ่งมาตรการคืนรถจบหนี้นี้ จะสิ้นสุดมาตรการในสิ้นกันยายน 2564 คาดว่า จะรองรับลูกค้าได้ประมาณ 4,000-5,000 คัน เฉลี่ยวงเงินต่อรายประมาณ 80,000-100,000 บาทต่อคันที่ธนาคารไม่ฟ้องคดี

 

“ลูกค้าที่เข้ามาตรการ “คืนรถจบหนี้” ทางธนาคารได้ประเมินแนวโน้มความสูญเสียหรือผลขาดดทุนด้านเครดิตที่จะเกิดขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้าแล้วว่า มีจำนวนเท่าไรก็จะตั้ง สำรองฯ ไว้ทันที ประกอบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งปีแรกปีนี้ ทิสโก้ได้กันสำรองมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน”นายศักดิ์ชัยกล่าว

นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคาร ทหารไทยธนชาต หรือ (ttb) กล่าวว่า ธนาคารยังเชื่อมั่นว่า ในครึ่งปีหลังจะสามารถรักษาเป้าหมายได้ คาดว่าสินเชื่อปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวเท่าปีก่อน เพราะจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยยังคงเน้นกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อ

นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคาร ทหารไทยธนชาต

เพราะยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ดังนั้น ภาพรวมเชิงกลยุทธ์  จึงคงยังไม่เปลี่ยนแปลงจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แต่ที่เพิ่มเติม คือ การดำเนินการตามแผนการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการด้านรายได้ (Revenue synergy) ภายหลังการรวมธนาคาร

 

ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้นตามความเปราะบางของสถานการณ์เศรษฐกิจ คาดว่าปีนี้ จะควบคุมให้อยู่ไม่เกิน 3.6% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.89% โดยใช้วิธีบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลด้วยการโอนไปอยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ พหลโยธิน จำกัด (PAMCO) โดยยังไม่เร่งขายหนี้ออกไป

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,702 วันที่ 5 - 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564