PwC คาด อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทย รายได้แตะ 6 แสนล้านปี 68

30 ก.ค. 2564 | 14:39 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 21:39 น.

PwC คาดรายได้อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยแตะ 6 แสนล้านบาท ในปี 68 หรือโตเฉลี่ยต่อปี 4.45% ชี้ธุรกิจภาพยนตร์-เพลง วิทยุ และพอดคาสต์-สื่อโฆษณานอกบ้านฟื้นตัว ช่วยหนุนรายได้รวมของอุตสาหกรรมปีนี้เหนือ 5 แสนล้านบาท แนะจับตาธุรกิจสตรีมมิ่งปีนี้ หลังโควิด-19 หนุนตลาดบูม

นางสาวธิตินันท์ แว่นแก้ว หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานสื่อและบันเทิง บริษัท PwC ประเทศไทยเปิดเผยว่า รายงาน Global Entertainment & Media (E&M) Outlook 2021-2025 ของ PwC ที่ได้คาดการณ์รายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยในปี 2568 ว่า จะอยู่ที่ 601,936 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (2564 - 2568 Compound Annual Growth Rate: CAGR) ที่ 4.45%  

 

ขณะที่รายได้รวมของอุตสาหกรรมในปีนี้จะอยู่ที่ 505,822 ล้านบาท หรือเติบโต 4% จากปีก่อน ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้การเติบโตในปี 2563 ปรับตัวลดลงถึง 6% อยู่ที่ 484,593 ล้านบาท

ธิตินันท์ แว่นแก้ว หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานสื่อและบันเทิง บริษัท PwC ประเทศไทย

 

"แนวโน้มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยในปีนี้ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากโควิด-19 แต่ก็มีธุรกิจในหลายเซกเมนต์ที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่แพลตฟอร์มที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงสัญญาณของการฟื้นตัวในบางเซกเมนต์ที่ offset กับการเติบโตที่ลดลงในปีก่อนหน้า ทำให้เราคาดว่า การเติบโตเฉลี่ยจากนี้ไปในอีก 5 ข้างปีหน้าจะอยู่ที่ราว 4-5% ต่อปี"นางสาวธิตินันท์กล่าว

 

ทั้งนี้ รายงานของ PwC ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลด้านรายได้และคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของ 14 กลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงใน 53 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลกคาดว่า ประเภทของสื่อและบันเทิงของไทยที่จะมีอัตราการเติบโตสูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้  ได้แก่ ธุรกิจภาพยนตร์ (เติบโต 47% จากปีก่อนมาที่ 7,823 ล้านบาท) ธุรกิจเพลง วิทยุ และพอดคาสต์ (เติบโต 27% จากปีก่อนมาที่ 11,856 ล้านบาท) และธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน (เติบโต 24% จากปีก่อนมาที่ 4,987 ล้านบาท)

ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจโทรทัศน์แบบดั้งเดิมและวิดีโอที่บ้าน และธุรกิจหนังสือจะเป็นสองกลุ่มสื่อและบันเทิงของไทยที่มีอัตราการเติบโตติดลบในปีนี้ที่ -3% และ -2% ตามลำดับ

 

เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยกับทั่วโลกพบว่า เป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกัน โดยมูลค่าการใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงทั่วโลกในปีนี้ คาดจะเติบโต 7% จากปีก่อนมาที่ 68,114,143 ล้านบาท (2.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้บริการดิจิทัลคอนเทนต์และเม็ดเงินโฆษณาที่ฟื้นตัว ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรายได้ของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564 - 2568 CAGR) จะอยู่ที่ 4.61%

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงในหลากหลายด้าน เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาเสพสื่อประเภทสตรีมมิ่งมากขึ้นแทนการรับชมโทรทัศน์หรือเดินทางไปโรงภาพยนตร์ หรือกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มวัยุร่นที่สนใจคอนเทนต์และเกมบนมือถือมากกว่าสื่อดั้งเดิม ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตของไทยที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ธุรกิจสตรีมมิ่งเป็นตลาดที่น่าจับตามองในปีนี้

 

"ตราบใดที่คนส่วนใหญ่หันมาใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ก็จะทำให้บริการสื่อประเภท over the top และวิดีโอสตรีมมิ่งยิ่งได้รับความนิยมไปด้วย ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการ OTT แบบบอกรับสมาชิกและแบบเก็บค่าบริการเป็นรายครั้ง"นางสาวธิตินันท์ กล่าว

 

ทั้งนี้ คาดว่า ในปีนี้จะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งในเรื่องของราคาและโปรโมชันเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด สำหรับ ธุรกิจวิดีโอเกมและอีสปอร์ต ก็เป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่มีการเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปีตามพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมเล่นเกมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก 

 

ข้อมูลจากรายงาน Digital 2021: Thailand  โดย DataReportal ระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย ณ เดือนมกราคมปีนี้ อยู่ที่ 48.59 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ 69.5% ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ คนไทยยังใช้สมาร์ทโฟนและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนมือถือมากถึง 90.66 ล้านครั้ง ทำให้ความต้องการสื่อบันเทิงในลักษณะนี้สูงขึ้น

 

"กระแสความนิยมใช้บริการ OTT และวิดีโอสตรีมมิ่งของผู้บริโภคจะช่วยสร้างโอกาสและความท้าทายให้กับผู้ประกอบการในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาด และสร้างยอดขายในภาวะที่ผู้เล่นหน้าใหม่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น"

 

ดังนั้นการเลือกแพลตฟอร์มที่ใช่และคอนเทนต์ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความเข้าใจบริบทภายนอกและปัจจัยของตลาด โดยนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริการรูปแบบใหม่ได้อย่างทันท่วงที จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับผู้บริการรายนั้นๆ