สศค. เผย เอกชนเริ่มชะลอลงทุน หลังโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจต่อเนื่อง

28 ก.ค. 2564 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2564 | 22:51 น.

สศค. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย.64 ยังได้รับแรงกระทบจากโควิด-19 ชี้เริ่มเห็นสัญญาณชะลอการลงทุนของเอกชน มีเพียงส่งออกยังขยายตัวได้ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบ ด้านทุนสำรองระหว่างยังสูงพร้อมรับมือความเสี่ยงจากเศรษฐกจโลกได้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวในอัตราที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง

 

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.6 และ 24.5 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 27.0 และ 13.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.3 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 43.1 จากระดับ 44.7 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลายลง 

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ยังขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่มีสัญญาณชะลอลง โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 13.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 5.0 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -0.8 ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 6.3 

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,699.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 43.8 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 41.6 ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด 4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 78.5 และ 114.3 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย อาเซียน-9 และจีน ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 123.9 42.8 และ 42.0 ต่อปี ตามลำดับ

 

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาคเกษตรยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.5 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และหมวดปศุสัตว์ 

 

ขณะที่บริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 5,694 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รัฐบาลได้เปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และ “สมุยพลัส” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณสมบัติสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งในส่วนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตั้งแต่วันที่ 1 – 25 กรกฎาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว จำนวน 11,585 คน สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80.7 จากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มมีการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

 

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.4 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 246.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2564