โควิดระบาดหนัก KKP research ปรับ GDP จาก 1.5% ลงเหลือ 0.5%

22 ก.ค. 2564 | 20:56 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 03:56 น.

KKP Research หั่น จีดีพีปี 64 จาก 1.5% เหลือ 0.5% หลังประเมินการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน รอบนี้อาจไม่จบเร็วเหมือนปีก่อน เหตุเจอไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่ระบาดสูงกว่าเดิมมาก อาจล็อกดาวน์ 3 เดือน

KKP Research ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ของไทย  ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือนกว่า สถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการบริโภคและการลงทุนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ และกระทบต่อการคาดการณ์ จีดีพีปี 2564 จากการเติบโตที่ 1.5% เหลือเพียง 0.5%

 

แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม เมื่อนับรวมกับตัวเลขการคาดการณ์ GDP ในปี 2564 ที่ 4.6% ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้รวมกับปีหน้าที่ระดับ 5.1% ไม่เพียงพอชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2563  ที่หดตัวลง 6.1% และเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ในการกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด -19

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่า 3 เดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบเพิ่มเติมอีก -1.3% และทำให้เศรษฐกิจในปีนี้หดตัวลง 0.8%

 

ทั้งนี้ จากสถิติการระบาดใหญ่ในต่างประเทศ การแพร่ระบาดหนึ่งรอบกินระยะเวลาเฉลี่ย 120-150 วัน สำหรับกรณีของไทย เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ  เช่น ประสิทธิผลของวัคซีนที่ลดลงต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า แผนการจัดหาวัคซีน และสถานการณ์ระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน KKP Research ประเมินว่า  การแพร่ระบาดอาจจะเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องในอีก  6 เดือนข้างหน้า โดยแบ่งเป็น 2 กรณี

 

1.กรณีฐาน (Base case)  หากล็อกดาวน์เท่ากับเดือนเมษายน 2563  (Oxford Stringency Index อยู่ในช่วง 60-80) เกิดขึ้นในไตรมาส  3 สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี และสิ้นไตรมาส 3 มีผู้ฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส คิดเป็น 30% ของจำนวนประชากร จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อ ถึงจุดสูงสุดภายในกลางไตรมาส 3 และค่อย ๆ ปรับลดลงในไตรมาส 4

 

2. กรณีเลวร้าย (Worse case) ภายใต้สมมติฐานว่า ล็อกดาวน์เท่ากับเดือนเมษายน 2563 แต่ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้  คาดว่ายอดผู้ติดเชื้อจะถึงจุดสูงสุดภายในปลายไตรมาส 3 และปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 2,000 ราย ในช่วงเดือนธันวาคม จนต้องมีการใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้น ในลักษณะเดียวกับประเทศชิลี อินเดีย และมาเลเซีย (Oxford Stringency Index มากกว่า 80) ที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตมากขึ้น

นอจากนั้น ความไม่แน่นอนในการจัดหาวัคซีน กำลังสร้างความเสี่ยงต่อสร้างภูมิคุ้มกันโดยรวม KKP Research คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ เพียง 35% ของประชากรจะได้รับวัคซีนครบสองโดส ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสของไทย ยังอยู่ในระดับต่ำมาก ทางออกที่เหลืออยู่ จึงเป็นมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับต่ำ (ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันสูงสุดเพียง 188 คน) แต่ไทยเลือกที่จะใช้มาตรการอย่างเข้มงวดในการปิดเมืองทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในโรงพยาบาล (Active case) สูงขึ้นมาก แต่มาตรการกลับมีความผ่อนคลายค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการระบาดครั้งก่อน จนทำให้สถานการณ์เกิดการระบาดอย่างรุนแรง

 

KKP Research ประเมินว่า หากมาตรการที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ มีความเป็นไปได้ที่ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น มาตรการปิดสถานที่ทำงาน แต่มาตรการเหล่านี้ต้องมีการวางแผนและประสานงานเพื่อลดผลกระทบ และความสับสน และทำให้บังคับใช้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด

 

นอกจากนั้น ยังเห็นว่า มีหลายมาตรการที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงนโยบาย และออกมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดผลกระทบ ได้แก่ 

 

1.ควรมีการประเมินสถานการณ์และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา และขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างชัดเจน

 

2.ควรจัดทำแผนมาตรการล็อกดาวน์ที่มองไปข้างหน้า สอดคล้องกับสถานการณ์ และสมเหตุสมผล และสื่อสารแผนการบังคับใช้และผ่อนคลายไว้ล่วงหน้า

 

3.เร่งเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรค การสอบสวนโรค การแยกผู้ป่วย และการรักษา และปรับปรุงนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพในการตรวจโรค เร่งจัดหาวัคซีน mRNA ที่หลักฐานสนับสนุนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชน

 

4.จัดเตรียมนโยบายเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่เหมาะสมต่อระดับและระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสนับสนุนให้มาตรการใช้ได้ผลจริง ลดผลกระทบต่อประชาชน และป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ และรักษาเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้โดยเร็วเมื่อสถานการณ์การระบาดปรับตัวดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยเป็นภาระต่องบประมาณน้อยลง เราเชื่อว่า ประเทศยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มหากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน โดยจำเป็นต้องมีแผนในการลดการขาดดุลในอนาคต และต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพที่สุด