อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 32.81บาท/ดอลลาร์

19 ก.ค. 2564 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 14:44 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ -จับตา แนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่าแล้วกว่า 3.6% และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยที่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติอาจกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.81 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ ปัญหาการระบาดของโควิด-19ในไทยที่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ยังคงกดดันให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) สะท้อนผ่านเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น พร้อมกับยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรระวังและติดตามการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด หลังเริ่มพบการระบาดมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ตลาดการเงินอาจกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – เรามองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส หนุนโดยแนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึง ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.5 แสนราย ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติ COVID-19 ขณะเดียวกัน ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม จะอยู่ที่ ระดับ 62 จุด และ 64.5 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวการณ์ขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ดีอยู่


ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป – ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วยุโรปที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นรวดเร็ว จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่า นโยบายการเงินยังมีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเรามองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% พร้อมกับ เดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอีต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่า ECB ก็มีโอกาสทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีหน้า ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หนุนโดยการลงทุนขนานใหญ่ผ่าน EU Recovery fund ที่จะเริ่มทยอยเบิกจ่ายและลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ยุโรปจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนัก กลับยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าง mRNA และ Viral vector ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ยุโรปอาจไม่ต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกรกฎาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -2.5 จุด จาก -3.3 จุด ในเดือนก่อน หรือ คนยุโรปมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริการในยุโรปก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.5 จุด และ 59.3 จุด ตามลำดับ

ในฝั่งเอเชีย – แม้ว่าปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจะยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจเอเชีย ตามภาพเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะโตกว่า 40%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ยานยนต์และชิ้นส่วน อนึ่ง ปัญหาการระบาดของ COVID-19 จะทำให้บรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียเลือกที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย เรามองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-Day Reverse Repo) ไว้ที่ระดับ 3.50% สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ +3.8% อย่างไรก็ดี เรามองว่า BI มีแนวโน้มทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในครึ่งหลังปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

และในฝั่งไทย – ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) อาจจะโตกว่า 38%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, แผงวงจร IC, ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าเกษตร ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่า 50%y/y ตามราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและส่งออกต่อ ทั้งนี้ โดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) ยังคงเกินดุลไม่น้อยกว่า 540 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากรายงานยอดส่งออก ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้


 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มีสองประเด็นหลักที่ต้องจับตา แนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย โดยเรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หลังผู้เล่นในตลาดคงกังวลปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก โดยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ต่อ คล้ายกับช่วงต้นปีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกว่า 4.5% (รอบล่าสุด เงินดอลลาร์แข็งค่าแล้วกว่า 3.6%)

 

นอกจากนั้น ปัญหาการระบาด COVID-19 ในไทยที่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น (อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้)

 

อนึ่ง แนวต้านสำคัญเงินบาทยังอยู่ในโซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวก็สามารถอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยกดดันเงินบาท คือ การระบาดในไทยที่เข้าขั้นวิกฤติและอาจมีการใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดขั้นสูงสุด

 

ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.60-33.00 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาท/ดอลลาร์