หุ้นแบงก์ราคาถูก แนะลงทุน 6 เดือน รอราคาฟื้นรับคลายล็อกดาวน์

18 ก.ค. 2564 | 08:54 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2564 | 16:20 น.
5.1 k

โบรกคาด กำไรสุทธิกลุ่งธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 64 ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 63 แต่แย่กว่าไตรมาสแรกปี 64 หลังตั้งสำรองสูงขึ้น จากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เผย หุ้นแบงก์ราคาถูกมาก แนะถือลงทุน 6 เดือน รอราคาฟื้นรับคลายล็อกดาวน์

กลับมาสู่ช่วงการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไทย ไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งเริ่มที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่นักลงทุนต่างรอติดตาม เพราะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับตัวเลขที่บ่งชี้ความเป็นอยู่และการใช้จ่ายของประชาชน

 

โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดการชะงักในหลายธุรกิจ ส่งผลต่อรายได้ การใช้จ่าย รวมถึงการกู้เงิน และการจ่ายหนี้ อาจก่อให้เกิดการตั้งสำรองหนี้ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้ปรับเพิ่มขึ้นได้

 

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จำนวน 10 แห่งในไตรมาส 1 ปี 2564 รวม 46,631.12 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2 ปี 2563 รวมที่ 30,386.46 ล้านบาท

 

ขณะที่ คาดการณ์จากบริษัทหลักทรัพย์(บล.) หลายแห่งคาดว่า กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ไม่รวมธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) จะอยู่ที่ 44,335 ล้านบาท

 

ด้านดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 64.20 จุด หรือ 19.03% ไตรมาส 2 ปี 2563 เพิ่มขึ้น 15.64 จุด หรือ 5.76% และไตรมาส 2 ปี 2564 ลดลง 53.16 จุด หรือ 13.24%

ประมาณการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/64

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดการณ์กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2564 จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

ส่งผลให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก แต่น้อยกว่าไตรมาส 2 ปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดรอบแรก แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่น้อยกว่า แต่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่ปัจจุบันผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูง แต่ใช้มาตรการคุมเข้มในพื้นที่เสี่ยง

ธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทิสโก้ จำกัด

 อย่างไรก็ตาม คาดว่า หากการระบาดรอบสามยังไม่จบเร็วๆ นี้ อาจทำให้ธนาคารค่อยๆ ตั้งสำรองมากขึ้น จากในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง และทยอยลดลงในไตรมาส 4 ปี 2563

 

ส่วนเอ็นพีแอลในระยะสั้นยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่มีมาตรการช่วยเหลือจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ตัวเลขที่จะเห็นชัดเจนยังไม่มี ซึ่งต้องรอระยะเวลาการช่วยเหลือหมดลง ทั้งนี้ มองว่ามาตรการช่วยเหลือจะยังมีต่อไปจนถึงสิ้นปี หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

 

“ตัวเลขเอ็นพีแอลตอนนี้ ที่ยังไม่อยู่ในระดับสูง มาจากมาตรการช่วยเหลือของธปท.ที่ถูกขยายต่อไปอีก แม้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและลากยาวไปถึงสิ้นปี แต่ไม่ทำให้เอ็นพีแอลจะขยับขึ้นสูงในปีหน้า เพราะการยืดหนี้ของธปท.จะช่วยให้ลูกหนี้มาปรับโครงสร้างหนี้ แล้วค่อยๆ ถูกทยอยตัดเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น อาจทำให้ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล สามารถกลับมาใช้คืนหนี้ได้”นายธนวัฒน์กล่าว

สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ช่วงที่ผ่านมา ราคาถูกลงมาก จึงยังเป็นที่น่าสนใจ โดยในระยะสั้น 3 เดือน ยังถูกกดดันด้วยสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการคุมเข้มของรัฐ ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายลงก่อน แต่หากถือลงทุนในระยะยาว 6 เดือน จะได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มของรัฐ หลังมาการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และหุ้นธนาคารพาณิชย์จะกลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง

 

ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ยังคงมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะล่าช้าไป 3-6 เดือน จึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้น เมื่ออ่อนตัว โดยคาดว่า รายรับจะค่อยๆ ดีขึ้นจากปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นและเริ่มเปิดเมืองอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนเครดิตที่ลดลง แต่ลดลง 10% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นประมาณ 7% และ NIM ที่ลดลง ส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.4% เนื่องจากมาตรการบรรเทาหนี้ของธปท.

 

บล.บัวหลวง จำกัดระบุว่า คาดการณ์กำไรสุทธิรวมในกลุ่มธนาคารอยู่ที่ประมาณ 43,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการตั้งสำรองที่ลดลงจากปีก่อน โดยคาดว่า KBANK, BBL และ BAY จะมีกำไรสุทธิที่เติบโตดีที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน TTB และ SCB คาดจะมีกำไรสุทธิที่อ่อนตัวลง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,697 วันที่ 18 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564