คลัง เผยเตรียมทบทวนยืดอายุพักจ่ายหนี้ หวังต่อลมหายใจธุรกิจ

16 ก.ค. 2564 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 19:06 น.

อาคม เผยเตรียมทบทวนยืดอายุพักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ต่อลมหายใจผู้ประกอบการ 10 จ. สีแดงเข้ม พร้อมย้ำ ฐานะการคลังยังมั่นคง แม้กู้เงินผ่าน พ.ร.ก. 2 ฉบับเพื่อแก้ปัญหาโควิด ชี้หนี้สาธารณะยังไม่ทะลุเพดาน เผย ณ. พ.ค.64 อยู่ที่ 55% ของจีดีพี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Monitor “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยธนาคารโลก ว่า รัฐบาลได้ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ใน 10 จังหวัด พร้อมออกมาตรการเยียวยา ซึ่งครั้งนี้ได้เน้นไปที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก การช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเทอม ขณะที่มาตรการทางการเงินได้ยกระดับมาตรการด้วยการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอก เป็นระยะเวลา 2 เดือน ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งโครงการ คนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังคงดำเนินการตามแผน เนื่องจากพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก 10 จังหวัดยังสามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ และมีระยะเวลาใช้จ่ายได้ถึงสิ้นปี 64 สำหรับ 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้วางไว้ คือ 1.มาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นทางการเงิน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้

 

“รัฐบาลมีแผนที่จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า จะต้องยืดอายุมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้นออกไปอีกหรือไม่ เพื่อช่วยต่อลมหายใจภาคธุรกิจ เนื่องจากมองว่าเพียง 2 เดือน อาจไม่เพียงพอให้ภาคธุรกิจได้ฟื้นตัว” นายอาคม กล่าว  

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

แนวทางที่ 2. คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ใน 4 ด้าน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เน้นไปที่พลังานสะอาดมากขึ้น เช่น การลงทุนผ่านกรีนบอนด์ , การมุ่งสู่ดิจิทัลอีโคโนมี่ โดยการส่งเสริมการนำระบบอิเลกทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการให้บริการประชาชนมากขึ้น , การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ ผ่านนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า และ การส่งเสริมเฮลท์แคร์ทัวริสซึม หรือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  และแนวทางที่ 3. คือ การบริหารเศรษฐกิจมหภาค เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนที่ทำให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และการดึงส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมหรือประกันสุขภาพมากขึ้น เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็ดบำนาญ หรือกองทุนต่างๆ บัตรสวัสดิการ เป็นต้น

โดยรัฐมนตรีคลังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 รัฐบาลมีการใช้แนวทางผ่อนคลายด้านนโยบายการคลังและการเงินและประสานกันอย่างใกล้ชิดตามแนวทางที่ธนาคารโลกแนะนำ ในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบ ซึ่งจำเป็นต้องเม็ดเงินก้อนใหญ่ และการกู้เงินก็เป็นแนวทางที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก และหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง

 

“รัฐบาลได้กู้เงิน เพื่อใช้การแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเยียวผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่าน พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 และล่าสุด พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาต่างก็กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมย้ำไทยยังมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศยังมั่นคง หนี้สาธารณะยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งตัวเลข ณ เดือน พ.ค. หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 55% ของจีดีพี ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบที่ 60% ของจีดีพี” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณดีขึ้นในปี 2564 จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินการเริ่มเปิดประเทศเริ่มที่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และล่าสุดได้เปิดสมุยพลัสโมเดล ภายใต้มาตรการควบคุมและตรวจหาเชื้อเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัย ทั้งนี้ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวถือมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ดังนั้น รัฐบาลจะดำเนินมาตการเปิดประเทศควบคู่การดำเนินมาตการทางเศรษฐกิจ เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ ปี 2565 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป