สบน. แจง พรก. กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ดันหนี้สาธารณะทะลุเพดาน

25 พ.ค. 2564 | 16:13 น.

สบน. แจง พรก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ชี้กู้ใช้ปี 64 เพียงแสนล้าน หนุนหนี้สาธารณะ ณ ก.ย.64 อยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี พร้อมเตรียมทบทวนกรอบหนี้สาธารณะรอบใหม่

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. กล่าวว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือ ตั้งแต่วันนี้ (25 พ.ค.2564) หรือเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ ฉบับที่ 2 กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย.65  โดยจะเป็นการทยอยกู้เงินตามความจำเป็นและตามแผนการเบิกจ่ายจริง เหมือน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท  ผ่านเครื่องมือการกู้เงินที่หลากหลายภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ 

 

โดย พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 กรอบวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท มีการตั้งสมมุติฐานการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในปี 2564 ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการกู้จนเต็มวงเงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนด

 

“รัฐบาลยังสามารถบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังได้ โดยเม็ดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เมื่อลงสู่ระบบเศรษฐกิจจะทำให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวขึ้นประมาณ 1.5% หรือ เฉลี่ย 0.75% ต่อปี ซึ่งเมื่อตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลง และยืนยันว่าการก่อหนี้อยู่ภายใต้กฎหมายกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประกาศและทุกฉบับ” นางแพตริเซียกล่าว

 

แพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สบน.

สำหรับ พ.ร.ก.เงินกู้ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น กำหนดการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน ได้แก่ (1) เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (แพทย์และสาธารณสุข) วงเงิน 30,000 ล้านบาท (2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ (3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 170,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่า วงเงินที่ตั้งไว้สำหรับการแพทย์และสาธารณสุขที่ 30,000 ล้านบาทนั้น  หากไม่เพียงพอ ยังสามารถโยกเงินจากส่วนอื่นมาใส่ได้ ยืนยันรัฐบาลยังให้ความสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอันดับ 1

 

ขณะที่การกู้เงินตาม พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ปรับลดลงจากเอกสารที่มีการเสนอครั้งแรกที่วงเงิน 700,000 ล้านบาทนั้น นางแพตริเซีย กล่าวว่า เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้เงิน ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะส่งผลต่อตัวเลขนี้สาธารณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพี

 

นางแพตริเซีย กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและประเมินสภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังใหม่ ซึ่งจะครบรอบ 3 ปีที่กฎหมายบังคับใช้ โดยหากจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจผ่านการใช้เงินกู้เพิ่มเติม ก็สามารถขยายเพดานกรอบวินัยการเงินการคลังได้ แต่หากเงินกู้ที่ใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ก็ไม่จำเป็นต้องขยับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม

 

ทั้งนี้ในการพิจารณากรอบวินัยการเงินการคลัง จะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) หนี้สาธารณะที่กำหนดกรอบไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี (2) หนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการราบได้ประจำปีงบประมาณ กำหนดกรอบไว้ไม่เกิน 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 27% ต่อจีดีพี (3)หนี้จากการก่อหนี้ในต่างประเทศ กำหนดกรอบไว้ไม่เกิน 10% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8% ต่อจีดีพี และ (4) หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ส่งออกสินค้าและบริการ กำหนดกรอบไว้ไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06% ต่อจีดีพี