คลัสเตอร์แรงงานระบาดสูง หวั่นฉุดภาคธุรกิจไทยเติบโตช้า

02 ก.ค. 2564 | 19:55 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2564 | 03:09 น.

ttb analytics ชี้ธุรกิจส่อแววโตช้า เหตุคลัสเตอร์แรงงานระบาดสูง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านกว่า 2.1 ล้านคน จี้เร่งยับยั้งการระบาด พร้อมปรับแนวทางดูแล พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้ แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการระบาดระลอก3  (1 เมษายน – 28 มิถุนายน 2564)  กว่า 3.6 หมื่นคน คิดเป็น 16% ของผู้ติดเชื้อในไทย ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมและแคมป์คนงานก่อสร้าง และในตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านทำงานอยู่จำนวนมาก

 

หากไม่ยับยั้งการติดเชื้ออาจลามสู่แรงงานส่วนอื่น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าเดิมได้  เพราะกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  เนื่องจากมีจำนวนแรงงานรวมกว่า 2.1 ล้านคน และอยู่ในภาคธุรกิจที่ไทยขาดแคลนแรงงาน

 

ttb analytics ระบุว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า แรงงานในประเทศมีจำนวน 40 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานไทย 37.7 ล้านคน และแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน (เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว)  2.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 91% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

 

เมื่อพิจารณาการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในไทย พบว่า ภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านสูงสุด คือ ภาคก่อสร้างและการผลิต มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 15% และ 10% ตามลำดับ โดยคิดเป็น 28% ของจีดีพี ในขณะที่ภาคการค้าและบริการ มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 5% และ 3% ตามลำดับ

ขณะที่การจ้างงานแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน ด้วยพื้นที่ที่มีการระบาดตามประกาศของ ศบค.ล่าสุด พบว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (10 จังหวัดสีแดงเข้ม ) พบว่า มีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้าน 9.3% ของแรงงานรวม หรือ  1.12 ล้านคน เทียบกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีสัดส่วนเพียง 5.7% หรือ 0.96 ล้านคน เท่านั้น

 

“จะเห็นได้ว่าแรงงานเหล่านี้ทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อลักษณะกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จะทำให้ภาคธุรกิจดังกล่าวอาจหยุดชะงักลงได้”

 

หากไม่เร่งยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะนำไปสู่การระบาดวงกว้างต่อแรงงานที่เหลือรวมถึงในพื้นที่ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวได้แนะผู้ประกอบการและภาครัฐ นำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย และเร่งฉีดวัคซีน

 

ดังนั้น การจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิตและก่อสร้าง หากไม่บริหารจัดการยับยั้ง จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานได้

 

ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวในกิจการ หากแรงงานต่างด้าวทำงานมานาน แต่ยังไม่ถูกกฎหมาย ควรเร่งนำแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นขึ้นทะเบียน เพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดสรรวัคซีนได้และเมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแล้ว ให้เร่งฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจนก่อให้เกิดคลัสเตอร์ในสถานประกอบการ

 

ขณะที่ภาครัฐสามารถอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน สามารถควบคุมและพิจารณาจัดสรรวัคซีนได้อย่างถูกต้อง และภาครัฐควรจัดการขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำเชื้อโรคเข้ามาแพร่กระจายในหมู่แรงงานต่างด้าวด้วยกันได้