เปิด 3 ข้อกังวล “ผู้ว่าการธปท.” ต่อเศรษฐกิจไทย รอวันปะทุ แม้โควิดคลี่คลาย

01 ก.ค. 2564 | 12:28 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 05:38 น.
1.1 k

ผู้ว่าการ ธปท.สะท้อนความกังวล หลังพ้นวิกฤติโควิด-19 ทั้ง “ความเร็วในการกระจายวัคซีน-ภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม-ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ” เตือนรับมือก่อนปะทุ

ประเทศไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง และ 2 กรกฎาคม 2564 จะเป็นวันครบรอบ 24 ปีของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ที่จุดกำเนิดเริ่มต้นจากไทยและลามไปทั่วโลก จนถูกขนานนามว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง  และขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติครั้งใหญ่ที่เริ่มจากวิกฤติสาธารณสุข จนลามเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมาปีกว่า และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง

 

จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะที่เป็นธนาคารกลางในการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ  โดยเฉพาะสำหรับผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่เคยทำงานในกระทรวงการคลัง และเป็นหนึ่งในทีมแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งตลอดเวลาเกือบ 1 ปี ในการทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ท่านยอมรับว่า ช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงานก็ว่าได้

 

นายเศรษฐพุฒิได้มาบอกเล่าถึงความท้าทายในการทำงานแก้วิกฤติ  และความรู้สึกในการรับภาระหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ และความกังวลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยยุคหลังวิกฤตโควิด 19  ผ่านนิตยสาร BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับล่าสุด

 

เศรษฐพุฒิ

 

นายเศรษฐพุฒิระบุว่า  ในสถานการณ์ปกติ การทำงานภายใต้ความคาดหวังของสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับมาตรการทางการเงิน เป็นสิ่งที่ผู้ว่าการ ธปท. ต้องเผชิญอยู่แล้ว ยิ่งต้องทำงานแก้วิกฤติ โดยเฉพาะเพื่อช่วยผู้ที่ ได้รับผลกระทบ ก็ยิ่งมีความคาดหวังแบบ "เล็งผลเลิศ - เห็นผลเร็ว" จากมาตรการ ขณะที่ ธปท. ต้องทำงานบนหลัก "คิดรอบ ตอบได้" แต่ก็ยังต้องตระหนักถึงความเร่งด่วนด้วย ซึ่งยอมรับว่า บริบทเหล่านี้ เป็นความท้าทายในการทำงาน

"ตอนที่ตัดสินใจมาสมัครรับตำแหน่งผู้ ว่าการ ธปท. ผมรู้อยู่แล้วว่า วิกฤติครั้งนี้หนักและท้าทาย แต่ยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้ยาวกว่าที่คาด และท้าทายกว่าที่คิด ประสบการณ์ทำงานอะไรที่เคยมี ตอนนี้ก็ควักออกมาใช้หมด เพราะหนึ่งในความท้าทายและเป็นความกังวลของผมด้วย คือ การจัดการความคาดหวังของคน อย่างตอนออกมาตรการฟื้นฟููฯ เรารู้ว่าทุกธุรกิจคาดหวังว่าจะต้องเข้าถึงสินเชื่อ พอปล่อยสินเชื่อแล้ว คนก็คาดหวังว่ามาตรการจะคืบหน้าจนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่การฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้จะไม่เร็ว"

 

ความท้าทายแรกๆของการเข้ารับตำแหน่ง ใหม่คือ แฟ้มตารางการประชุมที่เต็มไปด้วยนัดประชุมที่มีทั้งต้องเข้าร่วมเองและที่ส่งตัวแทนไปได้ ซึ่งฟังดูเป็นความท้าทายเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็เป็นอะไรที่ปวดหัวพอสมควร เพราะขณะที่รู้สึกว่า มาทำงานที่ ธปท. เพราะต้องการช่วยแก้วิกฤติ มันมี sense of urgency อยู่ แต่งานประจำที่ต้องทำร่วมกับคณะทำงาน ทั้งภายใน ธปท. และหน่วยงานภายนอก กลับใช้เวลาและดูดพลังไปเยอะมาก

 

“ฉะนั้น ความท้าทายของผมจึงอยู่ที่การบริหารจัดการเวลาและพลังของตัวเอง เพื่อไปออกแรงกับสิ่งที่ผมคิดว่าผมถูกจ้างมาให้ทำและเป็นโจทย์ใหญ่ของ ธปท. ที่ผมเรียกว่า 'งานหางเสือ' ซึ่งเป็นงานที่ ธปท. ต้องกำหนดเป้าหมายเอง จะปล่อยให้ไหลตามกระแสไม่ได้ โดยหนึ่งในงานหางเสือ ได้แก่ การออกมาตรการ และผลักดันให้มาตรการบรรลุผลนั่นเอง"

 

ขณะที่การทำงานแก้วิกฤติ จะต้องอาศัยการผนึกกำลังร่วมกันทำงานข้ามสายงานเป็น ONE BOT แต่อาจไม่ง่ายสำหรับวัฒนธรรมของ ธปท. ที่ทำงานตามสายงาน และมีงาน BAU เกี่ยวข้องเยอะ ทว่างานแก้วิกฤตมี sense of urgency รอไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกความท้าทาย แต่ที่สุดของความท้าทายคือ การทำงานร่วมกับ สารพัดหน่วยงานเพื่อออกมาตรการ โดยที่ยังสามารถประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายได้อย่างสมดุล และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤติโควิด 19 จะสร้างความกังวลใจ และท้าทายการทำงานในฐานะผู้ว่าการ ธปท. แต่มองว่า อนาคตอันใกล้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาที่จะสร้างความกังวลใจใหญ่หลวงไม่แพ้กับปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้ นั่นคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการปะทุหลังวิกฤติคราวนี้คลี่คลาย

 

"ผมพยายามปลอบใจตัวเองว่า หน้าที่ของคนแบงก์ชาติ คือ เขาจ้างมาให้เรากังวล เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหน้าที่ เรากังวลและระแวงแทนคนอื่นไปแล้ว"

 

1.ความกังวลใจใหญ่เรื่องแรกคือ ความเร็วในการกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้เท่าทันกับการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ซึ่งจะเป็นทางเดียวในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด และนำพาเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวกลับมา

 

"จะว่าไปแล้ว มาตรการทางการเงินและมาตรการต่าง ๆ ก็เป็นแค่การซื้อเวลา เหมือนกับการพยุงอาการคนไข้เพื่อรอวันที่คนไข้จะฟื้นตัวกลับมาเอง ท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่คนต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าการท่องเที่ยวไม่กลับมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็กลับมาได้ลำบาก”

 

ทั้งนี้เพราะ ภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มีสัดส่วน 11 - 12% ของ GDP แต่เป็น 20% ของการจ้างงานด้วย ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา รายได้ของคนก็ไม่กลับมา ต่อให้เรายืดหนี้ ลดต้นลดดอก ลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งการท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน

 

“สิ่งที่ผมกังวล คือ เราจะมีวัคซีนพอฉีดไหม ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้แค่ไหน การกระจายการฉีดเร็วพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่สายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อวัคซีนจะระบาดไหม คนพร้อมจะฉีดด้วยไหม ฯลฯ ซึ่งการหยุดวิกฤตินี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่เช่นนั้น เราก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่-ล็อกดาวน์-รัฐเยียวยา-เริ่มมาตรการฟื้นฟู-การ์ดตก-ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น"

 

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า วิกฤติครั้งนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป โดยไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นรองรับ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะชี้ชะตาความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

"ประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้มานาน คล้าย ๆ กับเราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ทั้งประเทศต้องฉุกคิด ไม่ใช่แค่เรื่องของการจะออกจากวิกฤตครั้งนี้ แต่หลังจากนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรจะเป็นอย่างไร และถ้าจะให้ดี สิ่งที่เราทำระหว่างทางเพื่อแก้วิกฤต ควรจะต้องตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศด้วย"

 

2.ความกังวลใหญ่ข้อถัดไปเป็นเรื่องของ ภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรวางแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ หากธุรกิจมีหนี้ ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับโครงสร้างหนี้ และหาสภาพคล่องเพื่อมาปรับรูปแบบหรือโครงสร้างธุรกิจรองรับกับการทำธุรกิจยุค new normal

 

3.ส่วนความกังวลใหญ่ประการสุดท้าย คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤติโควิด 19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็น "ตัวฉุด" การฟื้นตัวของหลาย ๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา

 

"ผมเองก็เป็นคนขี้กังวลอยู่แล้วมาทำงานที่นี่ มีข้อดีคือ พอเจอกับสถานการณ์ที่ต้องคิดหนักคิดมาก ก็รู้จักที่จะบังคับตัวเองให้หยุด ไม่อย่างนั้นจะไม่ไหว ก็เลยได้ปรับตัวและปรับปรุงตัว ผมจะมี 'me-time' ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นช่วงเวลา cool down และ shut down อยู่กับตัวเอง ไม่คุยกับใคร อ่านหนังสือ หรือไม่ก็ฟัง audio book เป็นหนังสืออะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ พอคิดถึงชั่วโมง me-time ก็ทำให้ระหว่างวันเรามีพลังในการทำงาน" ผู้ว่าการ ธปท. ทิ้งท้ายด้วยเคล็ดลับง่าย ๆ ในการสร้างพลังในการทำงาน