เริ่มต้นแล้วสำหรับการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้ามากกว่า 185 ประเทศทั่วโลก โดยภาษีพื้นฐาน(Baseline Tariffs) ที่เรียกเก็บจากทุกประเทศในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่เรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ(ในอัตราต่ำสุดที่ 10% และสูงสุดที่ 49%) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย นอกจากจะถูกเก็บภาษีพื้นฐาน 10% เพิ่มเติมจากอัตราภาษีปกติที่สหรัฐจัดเก็บอยู่แล้ว (อัตรา MFN) ยังถูกเก็บภาษีอัตราตอบโต้สูงสุด 36%ในวันที่ 9 เมษายน ขณะที่ในบางสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรา 232 ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐที่เป็นภาษีเฉพาะ ที่ไทยถูกขึ้นภาษีในอัตรา 25% ไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ เหล็ก/อลูมิเนียม และรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์
การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้นักวิชาการและภาคเอกชนของไทยประเมินจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวมไปยังตลาดสหรัฐและทั่วโลกจะลดลง 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาทในปีนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการเร่งด่วนในเวลานี้ คือการจัดคณะเดินทางไปเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องเป็นหัวหน้าคณะนำทีมด้วยตัวเอง
ทั้งนี้จากที่รัฐบาลจะส่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเดินทางไปเจรจากับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้มีส่วนได้เสียในสหรัฐ มองว่าไม่น่าจะได้ผล และมีโอกาสได้เข้าพบและเจรจากับทรัมป์ยาก ขณะที่ทุกประเทศต่างส่งระดับผู้นำในการพูดคุยทางโทรศัพท์ หรือเดินทางไปเจรจาด้วยตัวเองเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการต่อรอง
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน
“นายกรัฐมนตรีต้องจัดคณะชุดใหญ่ และควรเร่งเดินทางไปด้วยตัวเอง พร้อมนำคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนำผู้บริหารของบริษัทเอกชนรายใหญ่ ๆ ของไทยที่มีกำลังเงินทุนและมีศักยภาพที่จะไปลงทุนหรือขยายการลงทุนในสหรัฐไปด้วย เช่น ปตท. ซีพี ไทยยูเนี่ยน บ้านปู กัลฟ์ฯ หรือรายอื่น ๆ”
ทั้งนี้ต้องกำหนดท่าทีในการเจรจาต่อรองให้ชัด และยื่นข้อเสนอเข้าไป เช่น ไทยจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเป็น 0% เหมือนที่เวียดนามประกาศว่าจะลดภาษีให้สินค้าสหรัฐเป็น 0% แลกกับสหรัฐลดภาษีนำเข้าสินค้าให้เวียดนามเป็น 0% เช่นกัน แต่ของไทยอาจจะเกทับ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สหรัฐ เช่น ไทยจะลดภาษีสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% แต่ไทยขอให้สหรัฐลดภาษีให้ไทยเหลือ 10-15% ไม่ต้องเป็น 0% เป็นต้น
รวมถึงไทยอาจจะประกาศว่า ไทยพร้อมลดการขาดดุลของสหรัฐที่มีต่อไทยลง 30-50% ภายใน 6 เดือนนับจากนี้(ปี 2567 สหรัฐขาดดุลการค้าไทย 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์) โดยระบุให้ชัดว่าไทยจะนำเข้าสินค้าอะไรจากสหรัฐบ้าง เช่น ในสินค้าพลังงาน อากาศยาน สินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยขาดแคลน หรือผลิตได้เองไม่เพียงพอ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอื่น ๆ
อย่างไรก็ดีหากสหรัฐต่อรองให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ(ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง) ซึ่งอาจส่งผลกระทบผู้เลี้ยงหมูและผู้บริโภคของไทย หากไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ และมีการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐเข้ามาก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ และบังคับติดฉลากสินค้าว่าเป็นเนื้อหมูจากสหรัฐ เพื่อสร้างทางเลือกผู้บริโภค และแสดงให้สหรัฐเห็นว่าไทยไม่ได้กีดกันสินค้าสหรัฐ เป็นต้น หากไทยเสนอดังที่กล่าวมาเชื่อว่าทรัมป์จะสนใจและตอบรับข้อเสนอแน่
อย่างไรก็ดีผลพวงจากสินค้าไทยจะถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง เวลานี้ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเกษตรกรในประเทศแล้ว
โดยนายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย เผยว่า หลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษีพื้นฐาน และภาษีตอบโต้ มีผลให้ราคายางพาราในประเทศของไทย ทั้งน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันราคาปรับตัวลดลงแล้วกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วง 2 วันหลังประกาศ เพราะการปรับขึ้นภาษีส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาเศรษฐกิจและการค้าโลกมีความเสี่ยงชะลอตัว และจะส่งผลกระทบกับการส่งออกยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง (ส่วนใหญ่เป็นยางรถยนต์) จากไทยไปสหรัฐลดลง (ปี 2567 ไทยส่งออกยางพาราไปสหรัฐ 18,640 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ยาง 157,841 ล้านบาท)
หลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย
นอกจากนี้ยังกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรมของไทย ทั้งที่มาตั้งฐานลงทุนในไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจมาลงทุนต่างชะลอเพื่อรอดูทิศทางสถานการณ์นับจากนี้ โดยในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยองที่ตนดูแลอยู่ ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่จากจีน 2 รายใหญ่ (หวาอี้กรุ๊ป และ เซนจูรี่ไทร์)และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมประมาณ 20 รายได้ชะลอการขยายการลงทุน
ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า จากที่สหรัฐเป็นตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของไทยโดยนำเข้ามากกว่า 8 แสนตันต่อปี การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐในอัตราตอบโต้ 36% จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันตลาดข้าวในกลุ่มข้าวหอมของไทยกับเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า และจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในฤดูการผลิตใหม่ของเกษตรกรที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ มีราคาที่ต่ำลงจากปีที่ผ่านมา
นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สหรัฐเป็นหนึ่งในตลาดหลักของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยในปี 2567 ไทยส่งออกอัญมณีฯไปสหรัฐมูลค่า 69,217 ล้านบาท และในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ส่งออก 15,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าไทยได้เร่งส่งออกก่อนภาษีจะมีผลบังคับใช้
ที่น่ากังวลนับจากนี้ คาดภาษีนำเข้าอัญมณีฯของสหรัฐที่ปรับขึ้นจากอัตราเฉลี่ย 6% เพิ่มเป็น 36%จะกระทบการส่งออกและส่งผลผู้ประกอบการอัญมณีฯของไทยจะมีการปิดตัวมากขึ้น เพราะการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น กระทบต่อการบริโภคอัญมณีในสหรัฐฯ รวมถึงในตลาดอื่น ๆ ปรับตัวลดลง
ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของสหรัฐในเวลานี้ จากที่ทางกลุ่มฯได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกในปีนี้ที่ 1 ล้านคัน ยังคงต้องลุ้นว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการบริโภคของทุกประเทศทั่วโลกที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษี
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จริง ๆ แล้วแผนการจัดหาฝูงบินระยะยาวของการบินไทย ที่จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินจากปัจจุบัน 85 ลำ เป็น 103 ลำในปี 2569 และเพิ่มเป็น 116 ลำในปี 2570 และมีเป้าหมายระยะยาวที่ 150 ลำในปี 2576 นั้น
ในส่วนของการจัดหาอากาศยานแบบใหม่จากสหรัฐอเมริกา การบินไทยได้บรรลุข้อตกลงกับทางโบอิ้ง ในการจัดหาเครื่องบิน โบอิ้ง 787 Dreamliner ลำใหม่ 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมสูงสุดรวมเป็น 80 ลำ ในงานสิงคโปร์ แอร์โชว์ 2024 สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
โดยการบินไทย ได้ตกลงกับโบอิ้ง ในการจัดหาเครื่องบิน 787 Dreamliner หรือ โบอิ้ง 787-9 ลำใหม่ 45 ลำ (Firm Order) ซึ่งเบื้องต้นได้จ่ายมัดจำไปแล้ว ยืนยันว่าจัดหาแน่นอน เครื่องบินโบอิ้ง 787 จะเข้าประจำการในฝูงบินภายใต้กรอบระยะเวลา 10 ปี นับจากปี 2567 ซึ่งโบอิ้งจะเริ่มทยอยส่งมอบเครื่องบินล็อตแรกตั้งแต่กลางปี 2570 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีอยู่ในแผนจัดหาอีกจำนวน 35 ลำ เป็น (Option) ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะพิจารณาจัดหาหรือไม่ ต้องให้สอดรับกับสถานการณ์ของตลาด
“การจัดหาเครื่องบินทั้งหมด การบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการจัดหาเครื่องบิน ทั้งการเช่าและเช่าซื้อ โดยต้องพิจารณาถึงฐานะการเงิน และประสิทธิภาพสูงสุดในบริหารฝูงบิน เพื่อสร้างรายได้ในการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะการบินไทยเป็นบริษัทเอกชน”
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐในครั้งนี้ จะกระทบทำให้มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปสหรัฐฯ ปี 2568 จะลดลงถึง 1,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.83 หมื่นล้านบาท และอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเอสเอ็มอี (GDP SME) ปี 2568 ลดลง 0.2% จากที่ สสว. เคยประมาณการการขยายตัวไว้ที่ 3.5%
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม กล่าวว่า หลังสหรัฐประกาศอัตราภาษีตอบโต้(Reciprocal Tariffs) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก โดยอัตราภาษีประเทศในเอเชียสูงสุดคือจีน 34% (นอกจากอัตราภาษีเดิมที่ 20%)
ถัดมาเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียน เวียดนาม 46% กัมพูชา 49% อินโดนีเซีย 32% และไทย 36% จะสังเกตเห็นว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีทุนจีนเข้าไปลงทุนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทุนจีนบางกลุ่มใช้พื้นที่ฐานการผลิตสวมสิทธิ์เป็นสินค้าประเทศนั้น ๆ ส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา ทำให้ยอดการส่งออกเป็นของจีนไม่ใช่ของประเทศต้นทางโดยตรง และอาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลการถูกขึ้นภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่น