พลิกแผ่นดินไหวเป็นโอกาส สร้างมาตรฐานเหล็ก 100% คอนโดฯถล่มรับ 2 ล้าน

04 เม.ย. 2568 | 05:42 น.

ผู้เชี่ยวชาญชี้แผ่นดินไหวในไทย สร้างความเสียหายเศรษฐกิจหลักหมื่นล้าน แนะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ส่งเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจากสภาวิศวกรลุยเอ็กซเรย์ตึกสูง โรงแรม ภัตตาคารทั่วประเทศ ตรวจรับรองความปลอด สร้างความมั่นใจไทย-เทศใช้บริการ โครงการคอนโดฯจ่ายเงินล้าน การันตีตึกไม่ถล่ม

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่มีศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ที่มีแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ใน 63 จังหวัดของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก อาคารบ้านเรือนแตกร้าว มีตึกของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)สูง 30 ชั้นพังครืนลงมา มีผู้เสียชวิต และติดอยู่ในซากตึก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เร่งระดมความช่วยเหลือ ถือเป็นภาพจำที่ยังสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจในเบื้องต้น คาดจะมีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาทโดยพิจารณาจากอย่างน้อย 6 ประเด็น

1. ผลกระทบค่าใช้จ่ายของผู้พักอาศัยที่อยู่ในคอนโดมิเนียม ซึ่งหากห้องพักได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว หากไม่มีการทำประกันภัยไว้ก็ต้องซ่อมแซมเอง แต่หากมีการทำประกันภัยไว้ บริษัทประกันภัยต้องจ่าย ซึ่งปัจจุบันคอนโดมิเนียมในเขตเขตกรุงเทพฯ มีมากกว่า 5,900 แห่ง คาดได้รับความเสียหายส่วนหนึ่ง

2. ผู้คนที่อยู่ในคอนโดฯในเวลานี้ มีจำนวนมากที่คิดอยากจะขายห้อง เนื่องจากมองว่าอาจจะมีความไม่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในอนาคต หากจะมีการขายคาดส่วนใหญ่จะยอมขาดทุน หรือลดราคาลง อย่างน้อย 5 แสน-1 ล้านบาทต่อยูนิต หากขาย 1 หมื่นยูนิต ก็จะมีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท

3. ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดอาจมีความกังวลและไม่เข้าพักในโรงแรมที่เป็นอาคารสูง ๆ ซึ่งกระทบต่อรายได้ของโรงแรม

4. นักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะมีความกังวลต่อที่พักและโรงแรมแม้จะไม่เกิดการถล่มหรือได้รับความเสียหาย แต่ก็มีความกังวลว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่ อาจไม่เข้าพัก และหันไปใช้บริการที่พักแนวราบแทน

5. การลงทุนต่างชาติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคการก่อสร้างโรงงานในไทย จะชะลอตัวจากความไม่มั่นใจในวัสดุการก่อสร้างว่ามีคุณภาพหรือไม่

และ 6. ภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาต่างชาติเวลานี้เกิดความเสียหายมากในเรื่องมาตรฐานสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างและจากความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน

สำหรับสิ่งที่ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการในห้วงเวลานี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และสร้างความมั่นใจในเรื่องตึก อาคารสำนักงาน รวมถึงที่พักอาศัย คอนโดมีเนียมต่าง ๆ ว่ามีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัย ที่สำคัญคือ ในสินค้าเหล็กและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่นำเข้าทุกล็อต จะต้องมีการตรวจรับรองว่าได้คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากทางการของไทย

ส่วนสินค้าจากโรงงานต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย ในการผลิตแต่ละล็อตต้องได้รับการรับรองจากหน่วยราชการที่ตรวจอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมา จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่ามีเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพมีสัดส่วนไม่ถึง 10% แสดงให้เห็นถึงเหล็กที่ไม่มีคุณภาพยังมีขายอยู่ในตลาด ทั้งที่ควรจะเป็นเหล็กที่ได้คุณภาพมาตรฐาน 100%

ตอกยํ้าให้เห็นถึงความหละหลวมทางกฎหมาย และดัชนีคอรัปชั่น ของประเทศไทยที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะจากนี้ผู้คนจะกังวลและตั้งคำถามว่า นอกจากตึก สตง.ที่ถล่มลงมา จากหนึ่งในปัจจัยคือการใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ยังมีตึกอื่นอีกหรือไม่ และจะพังหรือถล่มลงเมื่อใด

 “นอกจากนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าพักในโรงแรมที่เป็นตึกสูง หรือผู้ที่พำนักอาศัยในคอนโดฯว่ามีความปลอดภัย หน่วยงานรัฐ และสภาวิศวกรควรขึ้นทะเบียนอาคารที่แตกร้าว และเข้าไปตรวจสอบโรงแรม ตึก อาคารสูง และภัตตาคารหรูต่างๆ ทั้งหมดในกรุงเทพฯ เพื่อรับประกันว่ามีความปลอดภัย โดยแปะสติกเกอร์รับรอง ส่วนที่ไม่ผ่านการรับรองก็ไม่ให้คนเข้าใช้บริการ และให้มีการแก้ไข”

นอกจากนี้แนะนำให้เจ้าของโครงการคอนโดฯ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการตรวจสอบและการประชาสัมพันธ์และการันตีว่าคอนโดฯนั้น ๆ มีความปลอดภัย โดยอาจรับประกันว่า หากมีเหตุแผ่นดินไหว ตึกถล่มลงมารับไปเลย 1-2 ล้านบาท หรือรับเงินคืนทุกบาททุกสตางค์ เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และขายได้มากขึ้น