เหตุการณ์แผ่นดินไหวจากประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 สร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มได้เปิดบาดแผลใหญ่ให้กับโครงการก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะของรัฐบาลในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่สำคัญคือเรื่องมาตรฐานเหล็กที่ไม่มีคุณภาพ
หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมเก็บตัวอย่างเหล็กตึก สตง. ที่ถล่มไปตรวจสอบและพบว่า เหล็กข้ออ้อยไม่ได้มาตรฐาน 2 ไซส์ คือ ขนาด 20 มม. และ 32 มม. ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เป็นเหล็กที่มาจากโรงงานที่กระทรวงอุตฯสั่งหยุดการดำเนินงานไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ประเด็นคำถามที่ตามมาก็คือ คุณภาพของเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเกิดจากอะไร
จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” เพื่อไขคำตอบเรื่องดังกล่าวพบว่า
แม้ในตลาดจะมีผู้ผลิตเหล็กจำนวนมาก แต่คุณภาพการผลิตมีความแตกต่างกันตามประเภทของเตาหลอมที่ใช้ โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมเหล็กระบุว่า มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างเทคโนโลยีเตาหลอม 2 ประเภทหลัก ได้แก่ เตา Electric Arc Furnace (EF) และเตา Induction Furnace (IF)
ไขข้อสงสัยคุณภาพเหล็กเตา “EF-IF” หนึ่งสาเหตุทำตึก สตง. ถล่ม
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเหล็กให้ความเห็นตรงกันว่า เตา EF ดีกว่า IF เนื่องจากเตา EF สามารถควบคุมคุณภาพและค่าทางเคมีได้ดีกว่า กำจัดสารเจือปนและสิ่งแปลกปลอมออกจากเหล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้ได้เหล็กที่มีความบริสุทธิ์สูงและมีคุณภาพสม่ำเสมอในทุกล็อตการผลิต
ในทางตรงกันข้าม เตา IF ควบคุมคุณภาพและค่าทางเคมีได้ยากกว่ามาก การกำจัดสารเจือปนและสิ่งแปลกปลอมออกจากเหล็กทำได้จำกัด คุณภาพเหล็กจึงขึ้นอยู่กับการคัดเลือกเศษเหล็กที่นำมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งควบคุมและตรวจสอบได้ยาก ทำให้มีความเสี่ยงที่เหล็กจะมีสารเจือปนและมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น
นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเหล็กระบุว่า เหล็กที่ผลิตจากเตา EF แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือสูง เหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรงและความปลอดภัยสูง เช่น อาคารสูง สะพาน และงานโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนเหล็กจากเตา IF เหมาะกับงานที่ไม่ต้องการมาตรฐานความแข็งแรงสูงมาก เช่น งานติดตั้งทั่วไป และงานเฟอร์นิเจอร์ โดยมีข้อได้เปรียบในแง่ราคาที่ถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม ประเด็นน่ากังวลคือ มีการนำเหล็กจากเตา IF ไปใช้ในงานโครงสร้างสำคัญที่ต้องการความแข็งแรงสูง ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยหากผู้รับเหมาไม่ตระหนักถึงข้อจำกัดด้านคุณภาพ
"ราคาอาจถูกกว่า 5-10% แต่ความเสี่ยงที่ตามมามีมูลค่าไม่สามารถประเมินได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการนำไปใช้ในโครงสร้างสาธารณะ" แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตเหล็กแห่งหนึ่งกล่าว