นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากลุ่มบริษัทบางจากยังคงเดินหน้าในการดำเนินงานโครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ทั้งในด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยี และตลาดรองรับ
โดยล่าสุดความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงกลั่น SAF ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 96% ซึ่งคาดว่าจะเปิดภายในวันที่ 25 เม.ย. นี้ โดยคาดว่ากระบวนการดำเนินงานจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ปลายไตรมาส 2 ของปี
ซึ่งมีแผนเริ่มต้นจากการทดสอบสมรรถนะของโรงงาน (Plant Performance Test Run) และจะทยอยเพิ่มระดับการผลิต (Ramp-up) ไปสู่การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามสัญญาการจำหน่ายและแนวโน้มความต้องการของตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มกระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์(COD) ได้ภายในปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะสามารถรับรู้รายในช่วงเวลาเดียวกัน โดยแผนดำเนินการผลิตรวมอยู่ที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน
บางจากออกโรงยันเดินหน้าผลิตน้ำมัน SAF ลั่นไม่มีขาดทุน
อย่างไรก็ดี กลุ่มบางจากถือเป็นผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% รายแรกของประเทศไทย ด้วยการใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) และวัตถุดิบทางเลือก (ของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอื่นๆ) ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลจาก International Sustainability and Carbon Certification (ISCC)
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า บางจากได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย SAF กับลูกค้าหลักแล้ว และรับจ้างการกลั่น (Tolling) อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีวัตถุดิบ หรือซัพพลายที่จะนำมาผลิตน้ำมัน SAF แล้วประมาณ 25 ล้านลิตร ซึ่งจะสามารถผลิตได้ 25 วัน โดยเป็นทั้งในส่วนที่สะสมเอง และรับมาจากผู้จ้างกลั่น
“บริษัทมีพันธมิตรที่จะซัพพลายน้ำมันใช้แล้ว หรือ UCO ให้เป็นรายใหญ่ 4-5 ราย และรายเล็กกว่า 4-5 ราย รวมถึงเป็นส่วนของประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยตัวโรงกลั่นจะสามารถเดินเครื่องได้ทันที 50% ของกำลังการผลิต และรันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ”
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องดูเงื่อนไขว่าจะดำเนินการอย่างไร จะเดินเครื่องทั้ง 100% เลยหรือไม่ เนื่องจากในช่วงแรกเป็นช่วงที่ต้องสร้างอีโคซิสเต็มก่อน โดยเป็นการเตรียมความพร้อม และประเมินดีมานด์และซัพพลายในประเทศพร้อมกับคู่ค้า โดยโรงงานได้ออกแบบมาเพื่อผลิตและขายในประเทศ 100% ในปี 2030 แต่ในระยะใกล้นี้หากยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนในประเทศก็จะทำการส่งออกก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ในหลายประเทศยังไม่มีนโยบายบังคับผสม SAF ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ความต้องการเชื้อเพลิง SAF ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากแรงขับเคลื่อนของเป้าหมาย Net Zero และการลดคาร์บอนในภาคการบิน ขณะเดียวกัน หลายภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำที่ 2% ภายในปี 2025 ซึ่งสะท้อนทิศทางที่ชัดเจนและสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ทั้งนี้ แม้ในระยะสั้นตลาด SAF อาจยังมีปริมาณเหลืออยู่บ้าง แต่ในระยะยาวเริ่มจากปี 2030 กลับมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะขาดแคลน เมื่อข้อกำหนดบังคับเริ่มทยอยมีผลในหลายประเทศทั่วโลก
"ในหลายประเทศเริ่มเห็นแนวทางที่ชัดเจนแล้ว และภาครัฐของประเทศนั้น ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ก็มีการอุดหนุนโดยตรง เพื่อผลักดันให้เกิดการตั้งโรงงาน SAF อย่างญี่ปุ่น ทั้งประเทศมีแผนจะพัฒนา 6 โรงงาน และเริ่มเดินหน้าแล้ว 1 โรงงาน ขณะที่ในประเทศไทยหากได้การอุดหนุนโดยตรงจากภาครัฐก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้เร็ว ซึ่งมั่นใจว่าในภาคการบินน้ำมัน SAF จะเป็นเพียวตัวเลือกเดียวในอนาคตที่จะตอบโจทย์กับความต้องการของสังคมในด้านการลดคาร์บอนได้มากที่สุด เพราะในมุมของเทคนิคการจะเปลี่ยนเครื่องบินไปใช้พลังงานไฟฟ้า หรือใส่แบตเตอรี่ก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก"
นายชัยวัฒน์ กล่าวยืนยันว่า โครงการ SAF จะไม่ขาดทุน เพราะหากขาดทุนก็จะไม่ทำ โดยมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำจากการที่มีกำลังผลิตไฮโดรเจนเหลืออยู่มาใช้โครงการนี้ ส่วนจุดคุ้มนั้นคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 3-5 ปี แต่หากสถานการณ์ไม่เป็นตามคาดก็จะคุ้มทุนใน 5-7ปี