thansettakij
บางจากอ่วม น้ำมัน SAF พ่นพิษ ส่งมอบวัตถุดิบล่าช้า กระทบรายได้กว่า 1.8 พันล้าน

บางจากอ่วม น้ำมัน SAF พ่นพิษ ส่งมอบวัตถุดิบล่าช้า กระทบรายได้กว่า 1.8 พันล้าน

03 เม.ย. 2568 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2568 | 09:19 น.
2.3 k

บริษัทลูกบางจาก BSGF เผชิญปัญหาการผลิต SAF หลัง ธนโชคน้ำมันพืช บริษัทคู่ค้าส่งมอบวัตถุดิบล่าช้า กระทบ EBITDA 1,879 ล้านบาท เล็งเจรจาแก้ไขสัญญากับคู่ค้า เลื่อนการส่งมอบน้ำมัน SAF

แหล่งข่าวจากบริษัทบางจาก จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) บริษัทลูกของบริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้น 80% ประสบปัญหาในการเดินหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ตามแผนงาน

เนื่องจากบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด ไม่สามารถจัดส่งน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตได้ตามสัญญา หลังจากที่ทั้งสองบริษัทได้ทำสัญญาจัดซื้อมูลค่า 450 ล้านบาทเมื่อปี 2566

จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ BSGF ไม่สามารถเดินหน่วยการผลิตได้ตามแผน ซึ่งเดิมมีกำหนดการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลกระทบต่อ EBITDA ซึ่งเป็นกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ของบริษัทเป็นมูลค่าถึง 1,879 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีแผนการแก้ไขปัญหา บรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการ เพิ่มการจัดหาวัตถุดิบในประเทศเพื่อลดต้นทุน บริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เจรจาแก้ไขสัญญากับคู่ค้า ซึ่งรวมถึงการเลื่อนการส่งมอบน้ำมัน SAF ปรับอัตราราคาขาย เปลี่ยนเป็นขอบเขตการ Tolling และการใช้วัตถุดิบทดแทนน้ำมันที่ใช้แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการดำเนินการตามแผนบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว ผลกระทบต่อ EBITDA ยังคงอยู่ที่ 1,879 ล้านบาท ทั้งก่อนและหลังการบรรเทาความเสี่ยง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 บริษัท บางจาก ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าซื้อเงินลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 45 ในบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด ("TCV") ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหาและจำหน่ายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ในวงเงินไม่เกิน 450 ล้านบาท  

บริษัทได้ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกจำนวน 150 ล้านบาทในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 และได้รับโอนหุ้นในวันที่ 5 มกราคม 2567 โดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 300 ล้านบาทภายในปี 2567 และ 2568 แบ่งเป็นครั้งละ 150 ล้านบาท เมื่อ TCV สามารถสร้างผลงานตามดัชนีชี้วัดผลงานที่กำหนดไว้ในสัญญา

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้ชำระเงินงวดแรกในปี 2567 เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามเงื่อนไขกับคู่สัญญา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทได้รับรู้สิ่งตอบแทนที่คาดว่าจะต้องจ่ายดังกล่าวเป็นหนี้สินหมุนเวียนอื่นในงบฐานะการเงิน

ขณะที่ในปี 2567 BSGF ได้มีการเพิ่มทุนรวม 4 ครั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ 1 (มกราคม): เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,201 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญ 79 ล้านหุ้นและหุ้นบุริมสิทธิ 21 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท บริษัท บางจากฯ และบริษัท BBGI ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน 800 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท ตามลำดับ

ครั้งที่ 2 (เมษายน): เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,201 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญ 79 ล้านหุ้นและหุ้นบุริมสิทธิ 21 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท บริษัท บางจากฯ และ BBGI ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน 800 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท ตามลำดับ

ครั้งที่ 3 (สิงหาคม): เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 6,201 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญ 158 ล้านหุ้นและหุ้นบุริมสิทธิ 42 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท บริษัท บางจากฯ และ BBGI ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน 1,600 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท ตามลำดับ

ครั้งที่ 4 (ธันวาคม): เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 8,201 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญ 158 ล้านหุ้นและหุ้นบุริมสิทธิ 42 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท บริษัท บางจากฯ และ BBGI ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนครั้งที่ 1 จำนวน 800 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2567 และชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนครั้งที่ 2 จำนวน 800 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

สำหรับ บีเอสจีเอฟ มีเป้าหมายในการก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนภายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบไปยังผู้บริหารบางจาก ยืนยันว่า บริษัทยังคงเดินหน้าตามแผนเดิม