นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (4 เม.ย. 68) นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. เรียกประชุมคณะกรรมการส.อ.ท. เพื่อประเมินผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีการค้าตอบโต้ไทยในอัตรา 36%
เพื่อลดการขาดดุลการค้าไทย ตามนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่ามีอุตสาหกรรมใดบ้างได้รับผลกระทบ
รวมถึงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่ม ซึ่งปัจจุบัน ส.อ.ท.มีสมาชิก 47 กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับประเด็นการปรับขึ้นภาษีประเทศไทย 36% ของสหรัฐอเมริกา ว่า เป็นอัตราที่สูงกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เนื่องจากทุกประเทศก็ถูกปรับขึ้นภาษีมากกว่าที่คาดการณ์ เรียกว่าเป็นการขึ้นภาษีสูงสุดในรอบ 100 ปี ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจ
สำหรับการถูกเรียกเก็บ 36% มาจากการที่สหรัฐฯกล่าวหาว่าไทยเก็บภาษีจากสหรัฐฯ 72% จึงมีมาตรการภาษีตอบโต้ออกมา หรือจะกล่าวก็คือ โดนเรียกเก็บเท่าไหร่ ก็จะเก็บคืนเท่านั้น อย่างไรก็ด็ สหรัฐฯเองก็ระบุว่ายังเป็นการเรียกเก็บน้อยกว่าความเป็นจริง หรือเพียงครึ่งเดียว
อย่างไรก็ดี มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เนื่องจากที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากไทย และประเทศอื่นไม่ใช่เพียงแค่ภาษีอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงมาตากรที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานสินค้า กฏระเบียบ เป็นต้น ขณะที่ตัวเลขการจัดเก็บดังกล่าวก็เป็นตัวเลขที่สร้างขึ้นมาเอง
“สหรัฐฯมองว่าไทยเก็บภาษี 72% เป็นกำแพงภาษี และที่สิ่งที่ไม่ใช่ภาษีรวมกัน ซึ่งอาจจะหมายถึงสิทธิทางปัญญา จึงนำไปสู่การเก็บภาษี 36% จากไทย เป็นการเล่นงาน“
อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยจีนถือว่าโดนหนักที่สุดรวมแล้ว 50% เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินการเป็นสงครามการค้าอย่างแท้จริง