การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แจ้งประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการยื่นคำขอ และในการพิจารณาอนุญาต สวนยางที่เข้าหลักเกณฑ์ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ แต่ละไร่มีต้นยางปลูกไม่น้อยกว่า 10 ต้น โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น และเป็นต้นยางอายุกว่า 25 ปี ขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย หรือต้นยางได้ผลน้อยตามหลักเกณฑ์ที่ กยท. กำหนด สวนยางที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนไร่ละ 16,000 บาท
โดยจะต้องไม่เป็นที่ดิน หวงห้ามของทางราชการ หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ หรือป่าที่ ตามมติคณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ให้เป็นป่าถาวรอันเป็นสมบัติของชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยราชการผู้รับผิดชอบให้เป็น ผู้มีสิทธิทำกิน หรือได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว เพื่อการทำสวนยาง
ทั้งนี้คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทยในฐานะเป็นเจ้าของสวนยาง การให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนมีให้เลือก 3 แบบ ได้แก่
แบบ 1 ปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี โดยแบ่งตามวิธีการปลูก
แบบ 2 ปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งตามวิธีการปลูก
แบบ 3 ปลูกแทนแบบสวนยางยั่งยืน การปลูกยางผสมผสานร่วมกับกิจกรรมอื่น
ทั้งนี้ ในการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ให้เกษตรกรชาวสวนยางยื่นแบบพิมพ์ คำขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 (แบบ กยท.1) พร้อมเอกสารหลักฐาน
จากนั้นพนักงานการยางแห่งประเทศไทยจะทำการสำรวจ รังวัดที่ดิน เมื่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อนุมัติคำขอแล้ว จะแจ้งผลให้เกษตรกรเจ้าของสวนยางทราบ พร้อมทั้งนัดเกษตรกรเจ้าของสวนยางประชุมชี้แจงขั้นตอนการปลูกแทน ทำสัญญา และรับหนังสือประจำตัว ผู้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนต่อไป
สำหรับการยื่นขอรับการสงเคราะห์เพื่อปลูกแทน ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ กรณีผู้ยื่นขอเป็นบุคคลทั่วไป
1.เป็นบุคคลสัญชาติไทย
2. เป็นเจ้าของสวนยางโดยมีหลักฐานการมีสิทธิ์ในที่ดินหรือมีหลักฐานการครอบ ครองที่ดินสวนยางตามที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางกำหนด หรือ เป็นผู้ที่ครอบครองที่ดินสวนยางมือเปล่าโดยชอบด้วยกฎหมายต่อเนื่องกันมากกว่า 10 ปี หรือผู้รํบโอนสวนยางจากผู้มีสิทธิ์ครอบครองดังกล่าว ซึ่งต้องมีหนังสือรับรองจากส่วนราชการที่รับผิดชอบว่า ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยาน หรือเขตหวงห้ามของทางราชการ
3. เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของสวนยางให้ทำการแทน
4. เป็นผู้เช่าสวนยางของผู้อื่นเพื่อผลิตยาง โดยมีสัญญาเช่า
5. เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับผลิตผลจากต้นยางในสวนยาง โดยได้รับความยินยอมจาก เจ้าของสวนยางเป็นลายลักษณ์อักษร
6. เป็นผู้เช่าที่ดินของผู้อื่นเพื่อสร้างสวนยางโดยมีสัญญาเช่า
7. เป็นเจ้าของสวนยางที่ได้รับอนุญาตให้เช่าทำสวนยางในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือวนอุทยานแห่งชาติ หรือเขตหวงห้ามของทางราชการ โดยมีหลักฐานอนุญาต ซึ่งทางราชการออกให้
หากชาวสวนยาง สนใจ ยื่นขอปลูกแทนกับ กยท. ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ - 31 มีนาคม 2568 ณ กยท. สาขาใกล้บ้าน