รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" วิเคราะห์บทเรียนการดำเนินกิจการกาสิโนในต่างประเทศ พร้อมชี้จุดอ่อนของ "ร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ของไทย
"ฟิลิปปินส์เปิดบ่อนกาสิโนมาตั้งแต่ปี 2519 หรือกว่า 50 ปีแล้ว แต่ประเทศก็ยังอยู่อย่างนี้ ไม่ได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศมากมาย" รศ.ดร.นวลน้อยกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าแม้รายได้ของรัฐจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบ่อน แต่ปัญหาที่ตามมาก็มีมากมาย
ในช่วงแรก รัฐบาลให้หน่วยงานรัฐดำเนินการ ก่อนจะเปิดให้เอกชนเข้ามา ทำให้จำนวนบ่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อรายได้ไม่เพียงพอ ฟิลิปปินส์หันไปเปิดพนันออนไลน์แบบออฟชอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยอ้างว่าให้เฉพาะชาวต่างชาติเล่น
"คนที่เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่จีนมีกฎหมายห้ามพลเมืองเล่นพนันออนไลน์และห้ามจัดทัวร์พาคนไปเล่นพนัน" อาจารย์นวลน้อยอธิบาย เมื่อรัฐบาลจีนกดดัน ฟิลิปปินส์จึงต้องลดจำนวนใบอนุญาตลง
สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อพบว่ามีการใช้กาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงิน จนฟิลิปปินส์ติดบัญชีเทาของคณะกรรมการเฉพาะกิจว่าด้วยการฟอกเงินระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังพบปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง การค้ามนุษย์ และการกักขังหน่วงเหนี่ยวชาวต่างชาติเป็นพันคน
"เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจาก 8-9 ล้านคนเหลือไม่ถึง 5 ล้านคน รัฐบาลก็หันมากระตุ้นให้คนในประเทศเล่นพนันมากขึ้น มีการเพิ่มตู้สล็อตหลายพันตู้ และเปิดพนันออนไลน์สำหรับคนในประเทศแทน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจสร้างปัญหาสังคมที่ใหญ่กว่าเดิม"
เมืองสีหนุวิลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาที่ผิดทิศทาง จากเมืองชายทะเลท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง กลายเป็นศูนย์กลางกาสิโนและพนันออนไลน์ที่เต็มไปด้วยปัญหา
"มีชาวจีนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาอยู่หลายแสนคน เกิดปัญหาอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ มีทั้งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง การค้ามนุษย์ การกักขังหน่วงเหนี่ยว จนรัฐบาลจีนต้องขอความร่วมมือให้ปราบปราม"
หลังการปราบปราม เมืองสีหนุวิลกลับกลายเป็นเมืองร้าง "มีแต่ตึกรกร้างว่างเปล่า การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เคยมีตึกถล่มมาแล้ว เป็นปัญหาที่ทิ้งค้างไว้ว่าจะจัดการอย่างไร เพราะการสร้างก็ไม่ได้มาตรฐาน จะปรับปรุงหรือรื้อถอนก็ยาก"
"สิงคโปร์น่าจะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอาเซียนเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่มีกาสิโน" รศ.ดร.นวลน้อยกล่าว โดยระบุว่าความสำเร็จมาจากการมีธรรมาภิบาลที่ดี การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด และความโปร่งใสในการดำเนินการ
สิงคโปร์มีการควบคุมที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น โดยกำหนดให้มีกาสิโนเพียง 2 แห่ง และจำกัดพื้นที่กาสิโนไม่เกิน 3% ของพื้นที่รวม มีการสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาถึงเหตุผลที่ต้องมีกาสิโน เนื่องจากทิศทางการท่องเที่ยวเริ่มแย่ลงและไม่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวมากพอ
มาตรการสำคัญอีกประการคือการเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากาสิโนสำหรับคนในประเทศ เริ่มต้นที่ 100 เหรียญสิงคโปร์ต่อครั้ง และเพิ่มเป็น 150 เหรียญในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังห้ามการปล่อยวงเงินเครดิตให้กับคนในประเทศ อนุญาตเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น
จากบทเรียนในต่างประเทศ รศ.ดร.นวลน้อยมีข้อเสนอแนะหลายประการ:
"ประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่แข็งแรง หน่วยงานกำกับดูแลไม่เข้มแข็ง และมีปัญหาความโปร่งใส เราอยู่อันดับร้อยกว่าในเรื่องความโปร่งใส ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 5 ของโลก" รศ.ดร.นวลน้อยกล่าวทิ้งท้าย
พร้อมเน้นย้ำว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวของการมีคาสิโนขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลเป็นสำคัญ