นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาและให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและตนเองในฐานะประธานกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีหน้าที่กำหนดมาตรการสินค้าข้าว เพื่อให้การบริหารจัดการสินค้าข้าวสอดคล้องกันทั้งระบบ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแนวทางดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างรอบคอบและเหมาะสม ทั้งด้านการผลิต และด้านการตลาด ซึ่งในส่วนของ นบข. ได้ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ไปแล้ว 3 มาตรการ เป้าหมาย 8.5 ล้านตัน เพื่อจัดการอุปทานข้าวและรักษาระดับราคาข้าวเปลือก
นายพิชัย กล่าวว่า ประกอบด้วย สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก รวมถึงสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายชาวนา ประมาณ 4.61 ล้านครัวทั่วประเทศ
สำหรับสถานการณ์ข้าวล่าสุด ได้รับรายงานจากทั้ง 2 กระทรวง ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลข้าวนาปรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกเจ้า ที่ออกมาแล้วเกือบ 10% และจะออกมากขึ้นในเดือน มี.ค.-เม.ย. ในพื้นที่ภาคกลางและบางส่วนของภาคเหนือล่าง โดยส่วนใหญ่ ข้าวนาปรังจะมีการส่งออกทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง
“ในปีนี้ราคาข้าวสารขาวในตลาดโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดีย มีการส่งออกข้าวขาวมากขึ้น และคู่แข่งอย่างเวียดนาม ก็เสนอขายในราคาต่ำกว่าไทย ส่งผลให้ระดับราคาข้าวเปลือก จึงได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งผลักดันตลาดต่างประเทศเป้าหมาย เช่น แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์”
สำหรับการช่วยเหลือชาวนาที่มีประเด็นเกี่ยวกับการจัดการนาข้าวแบบไม่เผา รวมถึง ผลกระทบจากการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นาข้าว และระบบน้ำชลประทาน ได้สั่งการกระทรวงเกษตรกรฯ ให้เร่งพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมให้เกษตรกรไม่เสียโอกาสและมีวิธีการจัดการนาให้เหมาะสมทั้งด้านต้นทุนและระยะเวลา
ส่วนสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือน ก.พ. 68 โดยจะออกกระจุกตัวช่วง มี.ค. - เม.ย. 68 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน
สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 17 ก.พ. 68 ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาท/ตัน (ลดลง 30%) ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 67 เป็นต้นมา
ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน (ลดลง 0.4%) ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน (ลดลง 16%) และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาท/ตัน (ลดลง 30%)