ปีงบประมาณ 2568 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายสูง สำหรับภารกิจจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลัง ซึ่งตามเอกสารงบประมาณตั้งเป้าหมายไว้สูงถึง 2.88 ล้านล้านบาท
โดยเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (1 ต.ค.67-ธ.ค.67) กระทรวงการคลังยังจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 14,133 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นความท้าทายของ 3 กรมภาษี ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้หลักของประเทศ ได้แก่
นายพรชัย ฐิระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 614,557 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,133 ล้านบาท หรือ 2.4% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.4%
ขณะที่การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ เนื่องจาก 1) รัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีก่อน 2) ส่วนราชการอื่น จากการนำส่งเงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล
3) กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้จากภาษีเบียร์เป็นสำคัญ และ 4) กรมสรรพากรจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะบริหารจัดการเพื่อให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ปีงประมาณ 2568 ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างฐานะการคลังให้มีความมั่นคงพร้อมสนับสนุนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้การจัดเก็บรายได้ของรัฐภาพรวมไตรมาสแรกยังสูงกว่าเป้าหมาย แต่กรมศุลกากร ซึ่งเป็นกรมจัดเก็บรายได้อันดับ 3 ของประเทศ ยังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลัง รายงานว่า กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 28,903 ล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ 30,800 ล้านบาท
สำหรับกรมสรรพากร กรมจัดเก็บรายได้อันดับแรกของประเทศ ยังจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย โดยจัดเก็บรายได้รวม 470,348 ล้านบาท จากเอกสารงบประมาณวางไว้ 466,385 ล้านบาท ด้านกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ รายได้รวม 122,777 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 1,754 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต เป็นอีกหนึ่งกรมจัดเก็บภาษีที่มีความค้าทาย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ส่งผลให้ไตรมาสแรก ของปีงบ 2568 จัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8,000 ล้านบาท ขณะที่ภาษีสุราก็จัดเก็บต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4,926 ล้านบาท รวมถึงภาษียาสูบที่เก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้วกว่า 3,060 ล้านบาท
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรนั้น ยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่ไม่ได้น่าเป็นห่วง ซึ่งมองในภาพรวมการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2568 ยังเป็นไปตามเป้าหมาย
โดยกลไกการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรนั้น ด้วยกลไกที่เราเจรจาระหว่างประเทศมา โดยจะมีการค้าเสรี (FTA) กับเอฟต้า ยุโรป สุดท้ายสินค้าจะได้รับการยกเว้นภาษีจะมีมากขึ้น ฉะนั้น จะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับนโยบาย ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรก็จะเข้มงวดการตรวจจับสินค้าลักลอบนำเข้าด้วย
ขณะที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 กรมได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณที่ 2.37 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 5% โดยยอดการจัดเก็บรายได้รอบ 3 เดือนแรกของปีงบ 68 กรมจัดเก็บได้ 4.7แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat ในประเทศที่ดีขึ้น แต่ภาษีนำเข้าลดลง 2,000 ล้านบาท และการจัดเก็บภาษีภ.ง.ด.51 หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ลดลง 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ายอดการจัดเก็บรายได้ใน 6 เดือนแรกหรือจนถึงเดือนเม.ย.นี้ จะทำได้เกินเป้าหมาย และจะพยายามผลักดันให้ทั้งปีเป็นไปตามเป้า
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าช่วงครึ่งหลังของปีจะเผชิญความท้าทาย เพราะต้องจับตาดูการยื่นแบบภาษีนิติบุคคลว่าจะทำได้ตามเป้าหมายแค่ไหน เนื่องจากการเก็บภาษีจะยึดจากผลประกอบการเมื่อปีทีแล้ว ซึ่งภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นยังไม่ค่อยขยายตัวได้มากนัก จึงต้องดูว่าจะกระทบการยื่นรายได้หรือไม่
ส่วนนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ ตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 6.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 16% จากปีงบประมาณ 2567 ที่อยู่ระดับ 5.6 แสนล้านบาท ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมที่เพิ่มขึ้น 16% นั้น กรมจะมีการหารือภายในร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่าจะขอดูเป้าหมายและหักลบส่วนนโยบาย โดยกรมเน้นการจัดเก็บรายได้ แต่จะสร้างสมดุลการสนับสนุนนโยบายการจัดเก็บด้วย ฉะนั้น อาจจะมีการปรับลดเป้าลงมา
อย่างไรก็ตาม ตามกระบวนการงบประมาณมีการจัดตั้งงบก่อนที่จะมีการดำเนินนโยบาย ฉะนั้น กรมจะต้องดูสร้างความสมดุลระหว่างจำนวนที่กรมจะจัดเก็บได้ และการเสียเม็ดเงินเพื่อสนับสนุนบางอุตสาหกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตในอนาคต และจะมีเม็ดเงินเข้ารัฐในอนาคต
“เราจะพยายามสร้างความสมดุลจากนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เพื่อให้แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมจะเสียเม็ดเงินส่วนนี้ จากการลดภาษีสรรพสามิต แต่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้มหาศาล เป็นเม็ดเงินเข้าประเทศ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น”