“Jurassic World” ทุ่ม 1,200 ล้าน ปักหมุดไทย ปั้นแลนด์มาร์กระดับโลก

05 ก.พ. 2568 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2568 | 10:32 น.

“Jurassic World” ทุ่ม 1,200 ล้าน ปักหมุดไทย หลังบอร์ดบีโอไออนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ปั้นแลนด์มาร์กระดับโลกแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ Jurassic World: The Experience ของบริษัท แอสเสท เวิรด์ แอทแทรคชั่น แอนด์ รีเทล จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร 

โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในโครงการ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งบริษัทจะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าวให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ และประเทศไทย

สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป็นการลงทุนสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวและความบันเทิงระดับโลกโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์Jurassic World จาก Universal Pictures และ Amblin Entertainment ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างไดโนเสาร์แอนิมาทรอนิกส์ที่มีการเคลื่อนไหวเสมือนจริง 

Jurassic World” ทุ่ม 1,200 ล้าน ปักหมุดไทย ปั้นแลนด์มาร์กระดับโลก

โดยใช้นวัตกรรมการออกแบบ 3 มิติ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่สมจริงมากที่สุด ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะแฟนคลับคนรักไดโนเสาร์ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยโครงการนี้ถือเป็นประสบการณ์ความบันเทิงรูปแบบอิมเมอร์ซีฟที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก และเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนำเงินเข้าสู่ประเทศไทย โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.67 ล้านล้านบาท“

อย่างไรก็ดี  การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวของภูมิภาค จำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวให้พร้อม ทั้งด้านบุคลากร คุณภาพของการบริการ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การจัดกิจกรรมนานาชาติหรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made ที่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศ” 

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558 – 2567) บีโอไอได้ส่งเสริมลงทุนกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำนวน 209 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ครอบคลุมทั้งกิจการโรงแรม ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย กิจการมหกรรม ดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ รวมทั้งกิจการสวนสนุก