มีหลายประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ทำให้มองเห็นทิศทาง และเป้าหมายการดำเนินงานของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้อย่างชัดเจน และน่าติดตาม
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ซีอีโอ โออาร์ คนใหม่เผยว่า ในปี 2568 โออาร์ได้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 19,000 ล้านบาท จากงบลงทุน 5 ปีที่ 60,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นไปที่ Mobility (เสริมความเป็นผู้นำในธุรกิจนํ้ามันและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน)ประมาณ 7,600 ล้านบาท และ Lifestyles (เสริมความแข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม) ประมาณ 7,300 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนด้านนวัตกรรม และธุรกิจใหม่
โดยในต่างประเทศจะเป็นการนำธุรกิจ Mobility และ Lifestyles ที่ประสบความสำเร็จไปลงทุน ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมองว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุน
สำหรับเป้าหมายในการเติบโตของธุรกิจทั้งหมด โดยหลักจะสามารถขยายตัวได้ตามจีดีพีของประเทศ ที่ 2-3% ต่อปี ซึ่งในปี 2568 ตั้งเป้าที่จะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของโออาร์เพิ่มขึ้น 2-3% หรือเติบโตอยู่ที่ระดับ 38% เหมือนปี 2566 โดยใช้กลยุทธ์การดึงจุดเด่นของโออาร์กลับมา
ทั้งนี้ จะมุ่งเสริมความเข้มแข็งใน 3 พันธกิจสำคัญ ประกอบด้วย 1.Seamless Mobility มุ่งเสริมความเป็นผู้นำในธุรกิจนํ้ามันผ่านการขยายเครือข่ายสถานีบริการและเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาสู่พลังงานทางเลือก เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ และการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้กลยุทธ์ Thailand Mobility Partner ในการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจนํ้ามัน (Fossil Based) สู่ธุรกิจพลังงานแบบผสมผสาน (New Energy-Based)
2.All Lifestyles มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของ Café Amazon ตลอด Value Chain พร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเริ่มศึกษาธุรกิจ Health & Wellness ที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์กระจายพอร์ทการลงทุน (Diversify Portfolio)
และ3.Global Market ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพสูง โดยมีแผนลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ
นอกจากนี้โออาร์ จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรอย่างรอบด้าน รวมถึงผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Oil Hub ของภูมิภาค ด้วยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจร ทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านนํ้ามันระหว่างประเทศ และการสร้าง New Magnet เพื่อยกระดับระบบนิเวศทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การเติมเต็มโอกาส เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน
หม่อมหลวงปีกทอง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการพัฒนาสถานีชาร์จ EV นั้น โออาร์มีการปรับเป้าลดลงตามคาดการณ์จำนวนรถ EV ที่เติบโตชะลอตัวลง จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 7,000 จุดภายในปี 2573 นั้น ล่าสุด ยอดการเติบโตของรถEV ตํ่ากว่าที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ OR จึงได้ปรับลดเป้าหมายลงเหลือ 5,000 จุดภายในปี 2573 ปัจจุบัน OR มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ อยู่ที่ประมาณ 1,000 แห่ง ซึ่งในแต่ละปีจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ ตั้งเป้าหมายขยายสถานีฯต่อเนื่อง แต่คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะลดลงตามต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง และยังคงเป้าหมายธุรกิจนี้จะคืนทุนภายในระยะเวลา 7 ปี
หม่อมหลวงปีกทอง กล่าวอีกว่า จะยังคงสานต่อวิสัยทัศน์ Empowering All toward Inclusive Growth หรือเติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน รวมถึงเน้นการต่อยอดนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ ทั้ง ด้าน S : Small การสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย ด้าน D : Diversified การลงทุนในธุรกิจที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของ OR และ ด้าน G : Green การดูแลสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา OR ได้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผ่านโครงการไทยเด็ด โดยสนับสนุนผู้เปราะบางทางสังคมผ่าน Café Amazon for Chance รวมถึงการติดตั้ง Solar Roof ในสถานีบริการ PTT Station ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ในปี 2050
“การขับเคลื่อนธุรกิจ OR จะมุ่งเน้นการใช้ Digitalization & Innovation เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ โดยที่ผ่านมา OR ถือเป็นบริษัทแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำระบบ SAP S/4 HANA มาใช้ในอุตสาหกรรมนํ้ามันและค้าปลีก และพัฒนา Control Tower Dashboard เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและตัดสินใจทางธุรกิจ” หม่อมหลวงปีกทอง กล่าว