ในที่สุดก็ผลักดันออกมาจนได้สำหรับกฎหมายสำคัญเพื่อปราบอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ รวมไปถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยออกเป็น ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มกราคม 2568 มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.ไซเบอร์ เป็นที่เรียบร้อย ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
ทั้งนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ โดยเพิ่มหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ให้บริการหมายโทรศัพท์ในการสั่งระงับ หรือยกเลิกการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พร้อมทั้งกำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณา โดยเฉพาะเพื่อให้การคืนเงินแก่ผู้เสียหายให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล
ร่างพระราชกำหนดในเรื่องนี้มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มเติม โดยเพิ่มเติมมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ สรุปดังนี้
1. เพิ่มหน้าที่ให้สำนักงาน กสทช. หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีหน้าที่สั่งระงับการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือเป็นการชั่วคราว เมื่อพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลว่ามีเลขหมายโทรศัพท์มือถือต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (การระงับซิมม้าหรือซิมที่ต้องสงสัยในการกระทำความผิด)
2. ห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P) โดยห้ามให้บริการหรือแสดงว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค (การซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย) และให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ปฏิเสธการเปิดบัญชีและระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรมกับลูกค้าที่มีรายชื่อหรือใช้กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ลดปัญหาการฟอกเงินโดยนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล)
3. กำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาโดยเฉพาะให้คณะกรรมการธุรกรรมเพื่อคืนเงินแก่ผู้เสียหาย โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้พิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายโดยไม่ต้องรอให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งถึงที่สุดก่อน อันเป็นการทำให้ขั้นตอนกระบวนพิจารณาการคืนเงินแก่ผู้เสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
4. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในกรณีดังต่อไปนี้